เมื่อวาน จู่ๆ กรมขนส่งทางบก ก็ออกมาบอกว่า UBER บริการ Private Driver (เรียกแท็กซี่นั่นแหละ) เป็นแท็กซี่ผิดกฎหมาย เตือนประชาชนอย่าใช้บริการ เนื่องจากผิด พ.ร.บ.รถยนต์ ปี 2522 ฐานใช้รถยนต์ผิดกฎหมายและไม่ใช้อัตราค่าโดยสารตามที่กฎหมายกำหนด ทันทีที่มีข่าวออกมาก็มีกระแสออกมาทั้ง 2 ทางคือ เห็นด้วยกับกรมขนส่งฯ อีกกระแสคือเข้าข้างทาง UBER
ประเด็นหลักๆ ของเรื่องนี้ อยู่ตรงที่ UBER นั้นเข้าข่าย “ใช้รถยนต์ผิดประเภท” (ทั้งป้ายเขียวและป้ายดำ)
1. ค่าโดยสารไม่เป็นไปตามมาตรฐาน
2. ผู้ขับไม่มีใบขับขี่สาธารณะ
3. มาตรการหลังจากนี้คือกรมการขนส่งทางบกจะเตรียมตรวจสอบการให้บริการ และเตรียมปรับสูงสุด เป็นค่าปรับการใช้รถยนต์ผิดประเภท 2,000 บาท และค่าปรับไม่มีใบขับขี่สาธารณะ 1,000 บาท
นอกจากประเด็นการทำผิดกฎหมายแล้วกรมการขนส่งทางบกยังแสดงความเห็นห่วง ในประเด็นการใช้บัตรเครดิตที่ “อาจจะส่งผลต่อความปลอดภัย”, รถที่ให้บริการไม่อยู่ในฐานข้อมูลรถสาธารณะของกรมการขนส่งทางบก, และค่าใช้จ่ายที่แพงกว่าแท็กซี่ทั่วไปอีกด้วย
ทันทีที่ข่าวนี้ออกมา สำนักข่าว และเว็บไซต์หลายต่อหลายแห่งก็นำเสนอข่าวอย่างครึกโครม ไม่ว่าจะเป็น ASTVผู้จัดการ, Blognone, Droidsans, Sanook!, VoiceTV ซึ่งจริงๆ จะว่าไปก็น่านำเสนออยู่ เพราะเท่าที่เปิดดูผู้ใช้ชาวไทยหลายต่อหลายคนก็ชื่นชอบบริการของ UBER ไม่น้อย เพราะปัญหาแท็กซี่บอกปัดไม่รับผู้โดยสาร, ปัญหาความปลอดภัย แต่บริการเรียกรถออนไลน์นี้ได้เข้ามา ‘เปลี่ยน’ ธุรกิจนี้อย่างสิ้นเชิง
แต่เอาเข้าจริงๆ มันก็ผิดกฏหมาย… อันนี้เถียงไม่ได้เลย
ทางด้าน UBER ประเทศไทยที่ก่อนหน้านี้ได้ออกมาเปิดตัวบริการในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ก็ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจ้งเกี่ยวกับบริการ โดยยืนยันว่า UBER เป็นบริษัทเทคโนโลยีที่เชื่อมโยงผู้โดยสารและคนขับรถผ่านระบบแอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนโดยการสัมผัสหน้าจอ สร้างความสะดวกสบายกับผู้ใช้บริการ อีกทั้ง อูเบอร์ ให้บริการที่ปลอดภัยและเชื่อถือได้ แก่ผู้คนหลายล้านคนในกว่า 250 เมืองทั่วโลก ขณะเดียวกันก็สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับพันธมิตรที่เข้าร่วมเป็นคนขับในโครงการนี้อีกหลายแสนคน
ทั้งนี้ UBER ยังแสดงความเคารพ หากได้รับโอกาสร่วมงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างความเข้าใจถึงคุณค่าและความสร้างสรรค์ในระบบการคมนาคมขนส่งในประเทศไทยที่ UBER เล็งเห็น นอกจากนี้ ในแถลงการณ์ไม่ได้บอกถึงจุดยืนในบริการ อูเบอร์ แท็กซี่ ในประเทศไทย ว่าจะยังคงให้บริการต่อหรือปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการบริการให้เข้ากับหลักกฎหมายอย่างไร
แต่ยกต่อไปจะเป็นอย่างไรนั้นคงต้องติดตามดู อย่างในเยอรมนีทาง UBER เป็นฝ่ายแพ้คดี ในบางประเทศอย่างสิงคโปร์ UBER ยังสามารถให้บริการต่อไปได้ แต่ทางรัฐบาลกำลังจัดการทางกฏหมายอยู่ เช่น อาจจะไม่สามารถเก็บเงินลูกค้าแพงกว่าแท็กซี่ทั่วไปได้, ต้องมีการจ่ายภาษีรถอย่างชัดเจน
ส่วนตัวผมชอบการวิเคราะห์ของ @markpeak ที่ออกมาให้ความเห็นว่ามันเป็นเรื่องที่คาดเดาได้อยู่แล้ว เหมือนที่เยอรมนี และอีกหลายๆ ประเทศก็ปิดบริการไปแล้ว
แล้วคุณล่ะครับ คิดว่าบริการแอปฯ รถแท็กซี่แบบ UBER, GrabTaxi, EasyTaxi นั้นสมควรจะถูกปิดไปหรือไม่ อย่างไร? แชร์กันได้ครับ