ข่าวใหญ่ของเช้าวันจันทร์ต้นสัปดาห์นี้ (26 มี.ค.) คงหนีไม่พ้นการควบรวมกิจการของ Grab และ Uber ที่เป็นข่าวลือมานานและก็มีความชัดเจนว่าจะช่วยให้ทั้งสองบริการมีความแข็งแรงขึ้น เพราะทั้งคู่ต่างก็ใช้เม็ดเงินในการทำตลาดอย่างมหาศาล และต้องยอมรับว่าหากมีการใช้งานทั้งสองบริการอย่างต่อเนื่อง จะเห็นว่าทั้งสองบริการไม่มีการแข่งขันเรื่องแคมเปญการตลาดมาหลายสัปดาห์
การเข้าซื้อกิจการของ Grab ต่อ Uber ภายใต้ข้อตกลงที่แจ้งว่าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์การซื้อกิจการธุรกิจออนไลน์ในภูมิภาคแต่ไม่มีตัวเลขแน่ชัด เพื่อก้าวสู่การเป็นแพลตฟอร์มที่ให้บริการแบบO2O (Online to Offline) และผู้ให้บริการรับส่งอาหารชั้นนำของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โดยหลักใหญ่ใจความในการร่วมมือคือ Grab จะเป็นผู้ผลักดันในการนำแพลตฟอร์มในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายหลังเข้าซื้อกิจการและสินทรัพย์ของ Uber ในกัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม โดย Uber จะถือหุ้น 27.5% ใน Grab และ ดารา โคสโรว์ชาฮี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของอูเบอร์ ก็จะเข้าร่วมเป็นหนึ่งในทีมผู้บริหารของ Grab
ทางด้านของการเดินหน้ากลยุทธ์ บริการ O2O (Online to Offline) ที่ทั้ง 2 ฝ่าย จะมุ่งหน้านั้น ประกอบด้วย
- บริการรับส่งอาหาร: แกร็บจะมุ่งขยายธุรกิจแกร็บฟู้ดอย่างรวดเร็วเพิ่มอีกสองประเทศ คือ สิงคโปร์และมาเลเซีย จากเดิมที่มีให้บริการอยู่แล้วในประเทศอินโดนีเซียและไทย หลังการควบรวมธุรกิจของ Uber Eats เข้ามาในบริการ ‘แกร็บฟู้ด’ (GrabFood) และมีแผนเปิดให้บริการ GrabFood ในทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายในกลางปีนี้
- บริการเดินทางขนส่ง: จะสร้างการเติบโตให้บริการเดินทางขนส่งโดยขยายบริการท้องถิ่น พร้อมมอบโซลูชั่นที่มากขึ้นผ่านการร่วมมือกับผู้ให้บริการเดินทางและบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ นอกจากนี้ จะสนับสนุนรัฐบาลและผู้ให้บริการขนส่ง เพื่อสร้างเครือข่ายการเดินทางสาธารณะที่หลากหลายในแบบไร้รอยต่อ รวมทั้งประกาศทดลองให้บริการ ‘แกร็บไซเคิล’ (GrabCycle) ซึ่งเป็นบริการจักรยานและอุปกรณ์มือถือร่วม และบริการ ‘แกร็บชัตเติ้ล พลัส’ (GrabShuttle Plus) ซึ่งเป็นบริการรถโดยสารประจำทางแบบออนดีมานด์ ไปก่อนหน้านี้
- บริการชำระเงินผ่านมือถือและบริการทางการเงิน: มุ่งขยายและยกระดับการให้บริการต่างๆ ภายใต้ ‘แกร็บไฟแนนเชียล’ (Grab Financial) ซึ่งรวมถึงบริการชำระเงินผ่านมือถือ บริการกู้ยืมสำหรับรายย่อย (micro-financing) และบริการประกัน รวมไปถึงบริการอื่นๆ สำหรับลูกค้าที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน และผู้ประกอบการธุรกิจรายย่อยหลายล้านรายในภูมิภาค ทั้งนี้ บริการ Mobile Wallet ของแกร็บเพย์ จะพร้อมเปิดให้บริการในทุกตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของแกร็บภายในปลายปีนี้
ทั้งนี้ เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างราบรื่น Grab และ Uber จะทำงานร่วมกัน ในการย้ายฐานข้อมูลรายชื่อคนขับ และผู้โดยสารจาก Uber รวมไปถึงลูกค้าที่สั่งอาหาร ผู้จัดส่ง และพันธมิตรร้านอาหารจาก Uber Eats ไปยังแพลตฟอร์มของ Grab โดย Uber จะให้บริการต่อไปอีกเป็นเวลา 2 สัปดาห์ เพื่อให้เวลาแก่คนขับในการเข้าไปลงทะเบียนสมัครกับแกร็บทางช่องทางออนไลน์ที่ www.grab.com/th/comingtogether
ทางด้านของ Uber Eats นั้น จะให้บริการต่อไปจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2561 และหลังจากนั้นข้อมูลรายชื่อผู้จัดส่งและพันธมิตรร้านอาหารก็จะถูกถ่ายโอนไปยังแอพพลิเคชั่นของแกร็บ
สิ่งที่ดีในมุมของผู้ใช้งานคือ ไม่ต้องเปิดหรือโหลดหลายแอพให้วุ่นวายหรือนั่งเปรียบเทียบราคาว่าบริการใดจะมีส่วนลดที่ดีกว่า แต่ก็จะทำให้เกิดการผูกขาดของบริการรายใดรายหนึ่งไม่มีตัวเลือกมากนัก ซึ่งในเชิงการแข่งขันของธุรกิจคงจะดุเดือดมากแน่นอน