เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา หากใครยังจำได้มีการเปิดตัวผู้จัดการ Uber ประจำประเทศไทยคนใหม่ ซึ่งก็คือคุณ “เฮียง – ศิริภา จึงสวัสดิ์” โดยภารกิจหนึ่งที่ผู้จัดการ Uber คนใหม่ตั้งใจก็คือ การทำความเข้าใจกับสังคมไทยในเรื่องของบริการ Ride-Sharing ให้มากขึ้นว่าเป็นบริการที่นำทรัพยากรและเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเป็นสำคัญ
กระนั้น ก็ต้องยอมรับว่า แนวคิดเรื่อง Ride-Sharing กับสังคมไทยนั้นยังเป็นสิ่งใหม่อยู่พอสมควร เพราะถึงจะมีผู้ใช้บริการเพิ่มมากขึ้นและกระจายออกไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศไทยอย่างต่อเนื่องก็ตาม แต่ก็ยังเกิดกรณีของความไม่เข้าใจกันกับผู้ใช้รถใช้ถนนประเภทอื่น ๆ ปรากฏออกมาอย่างต่อเนื่อง
ในจุดนี้ ในฐานะแม่ทัพ คุณศิริภามองว่า เธอมีความเชื่ออยู่ 3 ประการสำหรับการเข้ามาทำงานที่ Uber ประเทศไทย นั่นคือ เธอเข้าใจผู้ใช้งานเมืองไทย เธอเข้าใจและเห็นประโยชน์ของเทคโนโลยี และสุดท้ายเธอเข้าใจถึงประโยชน์ของ Ride-Sharing หรือ Sharing Economy
“ส่วนตัวเกิดและโตในเมืองไทย ทำให้เราเข้าใจลูกค้าว่าโปรดักซ์ของเรามันมีประโยชน์และสร้างคุณค่าให้คนใช้ได้อย่างไรบ้าง สองคือเรามองว่า เทคโนโลยีนั้นมาแล้ว เราจะทำอย่างไรให้เอาเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงาน – ชีวิตประจำวันได้ทุกด้าน และสามคือคือด้านประสิทธิภาพ เฮียงเชื่อในเรื่อง Sharing Economy เชื่อว่ามันเป็นคลื่นลูกใหม่ที่กำลังมา เลยอยากทำให้ Sharing Economy เกิดขึ้นได้ในไทย และใช้มันให้เกิดประโยชน์ เพราะเราเชื่อว่า มันจะสามารถแก้ปัญหาได้หลาย ๆ อย่าง เช่น ปัญหาการจราจร”
“แนวคิดของ Ride Sharing คือใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ที่ผ่านมา 90% ของเวลา 1 วันของรถยนต์คือการถูกจอดทิ้งไว้ เพราะตอนเช้าเราก็มักจะขับมาทำงาน พอเย็นจึงจะขับกลับ แถมบางวันก็อาจไม่ขับเลย แต่ในมุมมองของ Sharing Economy ก็คือจากเดิมที่ขับคนเดียว ทำไมเราไม่ทำให้มากกว่า 1 หรือทำไมไม่เอามาแชร์ ให้เกิดประโยชน์ ซึ่ง Uber เป็นรูปแบบหนึ่งของ Sharing Economy นั่นคือการเอาเทคโนโลยีมาทำให้เราสามารถใช้รถให้เกิดประโยชน์กับคนอื่นได้ด้วย”
“เช่นตอนเย็น เราขับจากสาธรกลับบ้าน เราก็เปิดดูว่าเผื่อมีใครอยากเดินทางไปด้วยกัน ก็ไปด้วยกันได้ ในต่างประเทศ เมื่อถึงจุด ๆ หนึ่งเขาจะมี UberPOOL เป็นรูปแบบของการแชร์เส้นทางกันไปได้เลย เช่น เราจะไปจากจุดเอไปจุดบี แต่มีคนหนึ่งอยู่ตรงกลาง ก็สามารถรับไปด้วยกันได้เลย ระบบจะปรับรูปแบบการเดินทางให้รับได้มากกว่า 1 คน”
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมามักมีการนำชื่อของ Uber ไปเปรียบเทียบกับบริการรถรับจ้างสาธารณะอื่น ๆ อยู่พอสมควร ในจุดนี้คุณศิริภามองว่า ไม่อยากให้เทียบกัน เพราะเป็นบริการคนละแบบ
“เราต่างกัน เพราะแนวคิดเราคือเอาทรัพยากรที่มีมาแชร์กัน และเรามีเทคโนโลยีที่เปิดกว้าง ซึ่งเทคโนโลยีช่วยจัดการการเดินทางได้ มันสามารถจัดการว่า คนนี้ขึ้นจุดนี้ คนนั้นลงจุดโน้น ทำอย่างไรให้ผู้เดินทางมีระยะเวลารอคอยน้อยที่สุด ซึ่งการมีเทคโนโลยีทำให้บริการ Ride-Sharing มีจุดต่างจากบริการอื่น ๆ มาก”
นอกจากนั้น หลายคนอาจคุ้นเคยกับการขึ้นรถลงเรือขึ้นรถไฟฟ้าที่จ่ายค่าโดยสารเป็นจำนวนแน่นอน ไม่ว่าจะฝนตกรถติดเท่าไรก็จ่ายราคานี้ แต่สำหรับ Ride-Sharing อาจมีการนำหลักการตลาดเข้ามาร่วมด้วย ซึ่งในจุดนี้คุณศิริภาเล่าว่า
“เราจะมีฟังก์ชันสำหรับบาลานซ์ความต้องการของตลาด เช่นในเมือง ช่วงที่คนต้องการกลับบ้านเยอะมาก แต่รถบนถนนที่จะสามารถรับคุณกลับได้มันมีน้อย เราก็จะมีการปรับราคาตรงนี้เพิ่ม เพื่อดึงดูดให้คนที่อยู่ไกลออกไปสนใจขับรถเข้ามา นี่คือหลักการตลาดอย่างหนึ่ง”
“หรือเวลามีเหตุการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้น เราในฐานะบริษัทก็จะหาทางรับมือเป็นกรณี ๆ ไป ในอดีต Uber ก็เคยทำเวลามีเหตุการณ์บางช่วงที่เราเปิด Free Ride หรือ Ride ราคาถูก เพื่อช่วยเหลือสังคม”
ความปลอดภัยบน Uber ทั้งฝั่งพาร์ทเนอร์ – ผู้นั่ง
“โดยปกติ ในด้านการซัพพอร์ทให้กับพาร์ทเนอร์ร่วมขับของเราเป็นสิ่งสำคัญ คือเรามีคอลล์เซนเตอร์ 24 ชั่วโมงสำหรับประสานงาน เพื่อให้พาร์ทเนอร์รู้สึกว่าเราอยู่เคียงข้างเขา หรือถ้าเกิดการลืมของ คนนั่งสามารถประสานเข้ามาได้ ระบบก็เช็คได้ว่าคนนั่งคือใคร คนขับคือใคร ก็เกิดการส่งคืนของกัน”
“ในจุดนี้ เรามองว่า เทคโนโลยีช่วยให้การบริการโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ ซึ่งคนจะขับ Uber ได้ต้องมีการตรวจสอบประวัติอาชญากรรม ว่าต้องไม่มีคดี สลับตัวมาขับก็ไม่ได้ คนขับเองก็จะถูกระบบสุ่มตรวจสอบ ด้วยการให้ถ่ายเซลฟี่ใบหน้าตัวเองส่งมา คือเราค่อนข้างถือเรื่องเซฟตี้ ขับเร็วเกินไปก็มีระบบตรวจจับ เป็นต้น”
นอกจากนั้นระบบของ Uber จะมีการแจ้งข้อมูลให้ทราบว่าพาร์ทเนอร์ร่วมขับหน้าตาอย่างไร ขับรถทะเบียนอะไร ยี่ห้ออะไร เมื่อขึ้นไปนั่งแล้ว ก็สามารถแชร์เส้นทางของรถที่กำลังวิ่งให้กับคนในครอบครัวได้ทราบด้วย และเมื่อลงจากรถ ก็สามารถให้คะแนนได้ทั้งทางฝั่งคนนั่งและคนขับ