Site icon Thumbsup

สตาร์ทอัพไทย เมื่อไหร่จะยูนิคอร์น ฟังกันชัดๆ กับกระทิง พูนผล The Godfather of Startup

หากพูดถึงกระแสของวงการสตาร์ทอัพในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า มีการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชนหนักมาก เรียกได้ว่าเงินทุนในวงการนี้ เพิ่มขึ้นมหาศาลทุกปี จนไม่ต่ำกว่าหมื่นล้านบาทแล้ว แต่ปัญหาคือตลอดระยะเวลาเกือบ 5 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยก็ยังไม่สามารถมียูนิคอร์น เพื่อเป็นชื่อเสียงของประเทศได้เสียที ปัญหาอยู่ที่ตรงไหน วันนี้ Thumbsup ได้พูดคุยกับคุณกระทิง-เรืองโรจน์ พูนผล ประธาน KBTG และเจ้าพ่อแห่งวงการสตาร์ทอัพไทย ผู้จุดวงการสตาร์ทอัพจนเกิดขึ้นในประเทศไทย และทุกคนต่างขนานนามเขาว่าเป็น The Godfather of Startup ที่จะช่วยไขปัญหานี้ให้ฟัง

“ผมคิดว่าถ้าจะมียูนิคอร์นสักตัวเกิดขึ้นในไทยปีนี้ ไม่ Fintech ก็ E-commerce ครับ”

คำทิ้งท้ายที่น่าสนใจของเจ้าพ่อวงการสตาร์ทอัพ ที่เขาบอกว่ามองเห็นยูนิคอร์นแล้วในสองกลุ่มสตาร์ทอัพนี้

จากวงการสตาร์ทอัพสู่องค์กรชั้นนำระดับประเทศ

ตอนอยู่ 500 Startup กับการมาบริหาร KBTG ที่มีพนักงานจำนวนมาก ความท้าทายที่ถือว่ายาก คือการทำให้องค์กรที่แข็งแรงอยู่แล้ว เติบโตและแกร่งยิ่งขึ้น ซึ่งผมก็ไม่ได้กังวลมาก เพราะผมว่าทีมงานค่อนข้างเก่งมากอยู่แล้ว

แต่สิ่งที่กังวลมากกว่าคือจะทำอย่างไรให้องค์กรที่ใหญ่ขนาดนี้เนี่ย เคลื่อนไหวได้รวดเร็ว ผมเคยอยู่ Google ซึ่งพนักงานที่นั่นก็ไม่ได้เยอะเท่ากับที่ KBTG แต่การเอาความรู้ที่นั่นมาใช้ ผมคิดว่ามันน่าจะเป็นประโยชน์

ส่วนการที่ผมลงทุนในสตาร์ทอัพเยอะๆ ทำให้เห็นภาพว่าโลกจะเคลื่อนไปยังไง พฤติกรรมผู้บริโภคจะเปลี่ยนไปยังไง ก็หวังว่าจะนำสิ่งเหล่านั้นมาใช้ใน KBTG ได้นะครับ แต่ก็เป็นงานที่น่าสนุกและท้าทายเช่นเดียวกัน

จุดเปลี่ยนที่ท้าทาย

ผมว่าท้าทายมากๆ ครับ จากบริหารกองทุนเราอยู่ในฐานะนักลงทุนมาสู่นักบริหาร เป็นการทำงานในกรอบสถาบันการเงิน ทำยังไงให้สปีดยังเร็วและทำงานในกรอบได้ การบาลานซ์สองฝั่งเข้ามาด้วยกันและการทรานฟอร์ม

หลักการทำงานที่สำคัญคือ เรื่องของ Empower คือการให้อำนาจพวกเขาและทำให้มีความสุขในการทำงานทุกวัน บอกเป้าหมายและทิศทางให้ชัดเจนให้พวกเขาเดินไป อีกอันคือเรื่องของ Envision เห็นภาพร่วมกัน และ Employee First พนักงานคือคนที่สำคัญที่สุด ให้เค้ามีความสุข

เมื่อพนักงานบอกต่อว่าทำงานแล้วมีความสุขอย่างไร ผมเชื่อว่าจะสร้าง Culture of Winner ที่ผมเรียกว่า A-Class คือวัฒนธรรมขององค์กร ที่ทำให้ทุกคนเป็น A-Class Player มองทีมเป็นหลัก และทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด

 

หลังจากมีการพูดคุยเกี่ยวกับการย้ายจากเจ้าพ่อกองทุนมาเป็นคนปั้นทีมที่ KBTG แล้ว สิ่งที่ทีมงาน Thumbsup พลาดไม่ได้คือ การสอบถามคุณกระทิง เกี่ยวกับการเข้าสู่ปีที่ 5 ของวงการสตาร์ทอัพ ที่มีสีสันและเงินทุนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนมากขึ้น จากยุคเริ่มต้นที่คุณกระทิง เป็นคนนำ DAve Mcclure ซีอีโอของ 500 Startups เข้ามาในไทยเป็นคนแรก สมัยที่เขาเพิ่งเริ่มต้นปั้น dtac Accelerate จนมีสตาร์ทอัพชั้นนำมากมายเกิดขึ้นในไทย

ภาพของสตาร์ทอัพไทยเป็นอย่างไรบ้าง

ปีนี้ยังคงน่าตื่นเต้นของสตาร์ทอัพไทย หลายโครงการยังระดมทุนได้มากขึ้น CVC ยังคงมาลงทุนในสตาร์ทอัพมากขึ้น กองทุน 500tuktuk ก็มี centaur ( centaur คือเกินหนึ่งร้อยล้านเหรียญ) ของไทยสองตัวแล้ว คือเป็นสตาร์ทอัพที่มีเพียง 4% ของโลกที่สามารถก้าวมาถึงระดับนี้ได้

เรามี 4 ตัวจากทั้งหมด 60 ตัว คิดเป็นเกือบสองเท่าของสตาร์ทอัพทั่วโลก จาก 200 ล้านเหรียญสิ้นปีอาจทำได้ถึง 400 ล้านเหรียญ จะเริ่มเห็นตัวที่สามในไทย ไม่นับ wave ก่อนหน้านี้ เพราะอันนี้เป็น wave ที่เกิดขึ้นในปี 2015 และเราจะเริ่มเห็นสตาร์ทอัพไทย มีมูลค่าบริษัท 50 ล้านเหรียญ (1,000-1,500 ล้านบาท) หรือเม็ดเงินครึ่งหนึ่งของ centaur แค่ผ่านมาสองเดือนมีให้เห็น 2-3 ตัวแล้ว และเชื่อว่าในปีนี้จะเห็นตัวที่เกิน centaur ไปอีก 3 ตัว ระดับกลางจะมีอีก 5-6 ตัวและระดับล่างจะโตขึ้น

ถ้าเขาทะลุคอขวด Series A ขึ้นไป (ซีรี่ย์เอคือเกินกว่า 1 ล้านเหรียญขึ้นไป จนถึง 10 ล้านเหรียญหรือ 300 กว่าล้านบาท) จะมีสตาร์ทอัพโตขึ้นอีก 5-10 ตัว ผมว่า Pipeline จะเข้มแข็ง เชื่อว่าจะมีคนขายกิจการเกิน 100 ล้านเหรียญได้แน่ๆ

เพราะสตาร์ทอัพอีโคซิสเต็มของประเทศใดก็ตาม ถ้ามีการ Exit หรือขายเกิน 100 ล้านเหรียญ หรือเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้เชื่อว่า จะมีแน่ๆ จะสามารถช่วยให้วงการสตาร์ทอัพเทคออฟเลย

และขั้นนี้จะมีแน่ๆ นี้ อยู่ที่ว่าจะ Exit ที่เท่าไหร่ จะ 100 200 หรือ 400 ล้านเหรียญสหรัฐ เพราะสตาร์ทอัพไทยจะโตมากจริงๆ  อาจไม่ต้องสร้างยูนิคอร์น แต่เชื่อว่าจะมีแน่ๆ นะครับ

ในพอร์ตของ 500 tuktuks เนี่ย exit ไปแล้ว 4 ตัว เชื่อว่าจะมีตัวที่ 5 ซึ่งผมเรียกว่าเป็น SME บริษัทใหญ่ที่เข้ามาซื้อกิจการ ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีและเจ้าของธุรกิจที่ Exit ธุรกิจได้ ก็จะมาปั้นคนใหม่ให้เก่งขึ้น นักลงทุนก็มาลงทุนเพิ่ม มีการใช้ซ้ำในเรื่องเงินทุนและนักลงทุนมาเพิ่ม

เทคโนโลยีขั้นสูงมาแรง

ไม่น่าเชื่อว่าประเทศไทย ไม่ได้เป็นประเทศผู้ผลิตเทคโนโลยีแต่คนรุ่นใหม่กลับมีแนวคิดในการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาพัฒนากันบ้างแล้ว นั่นแสดงว่าคนไทยในวงการสตาร์ทอัพ ฝีมือไม่ธรรมดา

“ปีนี้จะเห็น Disruptive Digital คือเห็นสตาร์ทอัพไทยมาใช้เทคโนโลยีเชิงลึกมากขึ้น และใช้ Deep Technology และ Disruptive Digital Technology มาใช้ในสตาร์ทอัพมากขึ้น”

ซึ่งใน 3 ปีนี้จะเป็นปีที่น่าสนใจ อย่างเช่น Health Tech, Education Tech ซึ่งโครงสร้างด้านการศึกษาเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว แต่เติบโตอย่างรวดเร็วเยอะมาก และผมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดัน Edtech สตาร์ทอัพขึ้นมาเงินทุนทั่วโลกลงทุนกว่า 9,500 ล้านเหรียญ คิดเป็น 2-3 แสนล้านบาทและเงินลงทุนยังเพิ่มขึ้น 30% ทุกปี

แต่เงินที่เคยไหลไปอยู่จีน เกาหลีและญี่ปุ่น ตอนนี้มาลงที่ระดับซีรี่ย์เอแล้ว ที่ SEA ส่วนใหญ่ยังเป็นเวียดนาม แต่สตาร์ทอัพไทยปีนี้น่าจะเติบโตขึ้นมา Health ยังคงน่าสนใจมากๆ ทางด้าน Aging Society , Education แตะตรงไหนก็แทบจะมีโอกาสทั้งหมดเลย ทั้งฝั่ง Pre-school, Professional Reskilling และฝั่งสอบ

การเตรียมความพร้อมก่อนสอบของนักเรียนมัธยมปลายเป็นโอกาสที่ยังดีและน่าสนใจ การเปลี่ยนประสิทธิภาพของโรงเรียนก็น่าสนใจนะครับ

และอีกสองอันคือทราเวิลและฟู้ด ปีที่แล้วฝั่งนักลงทุนร่วมกับไมเนอร์จัดแฮคอาทรอนขึ้นมา คนมาร่วมหลายร้อยคนเพื่อสร้างฟู้ดเทคอีโคซิสเต็มของไทยขึ้นมาและเราเป็นครัวของโลก

ถ้าเราสร้างโอกาสทุกสตาร์ทอัพจะมี J Curve และสร้างโอกาสโตได้อย่างรวดเร็ว ส่วนฟินเทคก็ยังมีโอกาสโตอย่างต่อเนื่องเช่นกันครับ

การศึกษาไทยยังแย่ สตาร์ทอัพ edtech จึงมาแรง

วงการศึกษาไทยยังมีปัญหาทุกอย่าง เป็นปัญหาที่ตัวระบบที่สะสมมาอย่างยาวนาน ทั้งเรื่องการวางหลักสูตร วัดผล หรือเรื่องของอาจารย์ที่อยากปรับตัวแต่ยังไม่มีเครื่องมือการวัดผลเข้ามาและตัวโรงเรียนการเอาเทคมาใช้ในสถาบันการศึกษาและการเรียนรู้เข้าใจ จะช่วยเพิ่มศักยภาพของคน เรียกว่าเป็นการเจอพายุ Disruption ขั้นรุนแรง

เราไม่ได้มีปัญหาเรื่องงบประมาณเลย แต่มีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการและตัวระบบ การวัดผล และวางหลักสูตร ภาคเอกชนเค้ารู้และปรับตัวเพื่อเข้าสู่โลกของการ Disruption

ก็เลยมีหลายบริษัทสนใจที่การ reskill ของพนักงานเองก่อน เริ่มวางหลักสูตรโดยร่วมมือกับเหล่า Education Tech สตาร์ทอัพก่อน เช่น KBANK ร่วมกับ Skilllane เพื่อให้มาช่วยพัฒนาพนักงานในโลกดิจิทัล หรือที่ผมเข้าไปลงทุนอย่าง Woxxy, Vonder หรือ OpenDurian ที่เข้าไปช่วยรีสกิลพนักงานเช่นเดียวกัน

เมื่อบริษัทลุยเรื่องการศึกษา พนักงานเริ่ม reskill เพิ่มทักษะของพนักงานด้านการศึกษา เพราะ 33% ของทักษะเดิมที่มาเริ่มใช้งานไม่ได้แล้ว หรืือบางอุตสาหกรรม 50% ของทักษะเดิมและจะมากระทบที่มหาวิทยาลัยที่อยู่ท่ามกลางดิสรัพชั่น

และพ่อแม่เริ่มตระหนักแล้วว่าลูกเรากำลังจะโตในยุค Disruption ต้องมีความรู้และวิธีคิดใหม่ๆ ต้องมี Attitude ใหม่ๆ ต้องเริ่มเรียน Coding และ Expost กับเทคโนโลยีใหม่ๆ พ่อแม่ก็รู้และฝั่ง Pre-school ก็ยังสำคัญมากๆ และสาม Area นี้ จะมีเทคสตาร์ทอัพเข้าไปรองรับความต้องการเยอะมาก

นอกจากนี้ ที่ผมเข้าไปลงทุนคือ insKru คือ Inspire ครูหรือเป็นการอัพเกรดทักษะของครูให้อาจารย์เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เป็นแพลตฟอร์มให้ครูมาแชร์ข้อมูลกัน เรียนรู้หลักสูตรใหม่ๆ แลกเปลี่ยนวิธีการเรียนรู้ใหม่ๆ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ให้กับครูประถมและมัธยม

ผมเชื่อว่าวงการ Edtech ตรงไหนก็มีโอกาสแทบทั้งหมด ยิ่ง Edtech Startup ไทยมีโอกาสมากๆ และเป็นอีกหนึ่งแอเรียร์ที่ลูกค้ายินดีจ่ายเงิน

เงินเฟ้อในวงการสตาร์ทอัพ

หลายคนสนใจและมักถามว่าเงินในระบบสตาร์ทอัพจะเฟ้อไหม ตอนแรกผมก็กังวลว่าจะเกิดฟองสบู่หรือไม่ แต่พบว่าไม่มูลค่ามันไม่ได้เฟ้อไง อย่างกองทุนผมลงทุนในสตาร์ทอัพเพิ่งเจ๊งไป 3 ตัวเอง

การมีคนมารับไม้ต่อเกือบ 50% หมายความว่าเค้ายินยอมลงทุนเกินกว่าครึ่ง ส่วนที่ไม่ได้ไปต่อคือ รอเวลา เราเจอปัญหาคือ Country Discount มากกว่า คือมูลค่าบริษัทต่ำกว่าประเทศอื่นเยอะเกินไป ซึ่งมีหลายเหตุผล

ถ้าเราสำเร็จได้ ปัญหา Country Discount ก็จะเบาลงไปทันที มาพิสูจน์กันว่าสตาร์ทอัพอีโคซิสเต็มไทยทำได้และสามารถเติบโตนอกประเทศไทยได้และจะแก้ Country Discount ได้แน่นอน

ข้อคิดสำหรับคนที่อยากเป็นสตาร์ทอัพ

สำหรับคนที่เคยทำสตาร์อัพและไม่ประสบความสำเร็จ ต้องถามตัวเองก่อนว่า “ทำเพื่ออะไร” สองคือ “ลองประเมิน และวิเคราะห์ว่าเป็นเพราะอะไร ได้บทเรียนการเรียนรู้อะไรบ้าง ” ผมอาจไม่เหมาะสกับสตาร์ทอัพ เหมาะกับเป็นเอสเอ็มอี “คุณไม่ได้ล้มแต่คุณได้ Learn” คุณได้เรียนรู้อะไรมาบ้างและเอาบทเรียนนั้นมาใช้ได้ บางคนอาจไม่เหมาะกับการเป็นสตาร์ทอัพฟาวเดอร์ แต่อาจจะเหมาะกับการเป็นโปรเฟสชันแนล ที่ดีมาก

บางคนอาจไม่เหมาะกับการสร้างจาก 0-1 ต้องทำทุกอย่าง แต่บางคนถนัด 1-10 บางคนอาจถนัดเรื่องการสเกล หน้าที่ของคุณเหมาะกับอะไร บางคนอาจคันอยากเปิดสตาร์ทอัพ ทุกบริษัทจ้องการคนที่มีความต้องการทำงานแบบสตาร์ทอัพ เราต้องการดิจิทัลสตาร์ทอัพและอยู่ในร่มของบริษัท

นี่คือทางเลือกที่มี อย่าคิดว่าที่ผ่านมาไม่สำเร็จ ไม่มีล้มมีแต่เลิร์น คุณต้องปรับตัวเสมอ ต้องอันเลิร์นและรีเลิร์น ยุคสมัยก่อนคนที่ไม่รู้หนังสือคือคนที่อ่านไม่ออก แต่ยุคสมัยนี้คนที่ไม่สามารถอันเลิร์น ทิ้งความรู้เก่าและเรียนรู้ใหม่ไม่ได้ การเรียนรู้และปรับตัวจะประสบความสำเร็จแน่นอน

ฟันธงปีนี้มียูนิคอร์นไหม

ปีนี้ไม่มียูนิคอร์นแน่นอน พี่คิดว่าตัวใหญ่สุด จะมี Series B แต่ยูนิคอร์นต้องเป็นซีรีย์ E, F คงต้องรอระดมทุนอีกสองรอบ ต้องใช้เวลา 3-5 ปี จะถึงยูนิคอร์นแน่นอน

เพราะฉะนั้น รอดูกันต่อไปอีกสักพัก เพราะตอนนี้เค้าก็พยายามระดมทุนและเดินหน้าอยู่นะ แต่เราเริ่มต้นช้ากว่าประเทศอื่นๆ ทำให้กว่าจะเกิดยูนิคอร์นต้องรอเวลา …

รับชมคลิปกันได้