“คุณจำไว้นะว่าเป็นกะเทยคุณไม่มีวันเจริญได้หรอก”
เป็นคำพูดที่ ศรัณย์ แบ่งกุศลจิต หรือที่น้องๆในทีมเรียกติดปากกันว่า“เจ๊แอ๊ม” เคยถูกอาจารย์พูดใส่ในสมัยที่เรียนอยู่มหาวิทยาลัย ก่อนที่จะมาเป็นผู้ก่อตั้งเอเจนซี่โฆษณาสีสันจัดจ้านชื่อว่า Uppercuz Creative
ที่ในตอนนี้กำลังเดินทางเข้าสู่ขวบปีที่ 5 ของโลกการทำธุรกิจ โดยพนักงานส่วนใหญ่ของบริษัทนั้นเป็นเหล่า LGBT และสิ่งนี้เองก็เป็นข้อพิสูจน์ได้ว่าเรื่องความสามารถมันมีมากกว่าขีดจำกัดของคำว่า “เพศ”
ภาพรวมธุรกิจของ Uppercuz Creative ในช่วงที่ผ่านมา
ศรัณย์ : มีการเติบโตขึ้นเรื่อยๆเพราะถ้าย้อนไปช่วงปีแรกเรามีพนักงานแค่ 10 คน เข้าปีที่สองมีอยู่ 30 คนจนตอนนี้ในปีที่สี่เรามี 80 คนแล้ว ส่วนหนึ่งของการที่โตได้แบบนี้ เพราะเราพยายามทำบริษัทให้ระบบทุกอย่างมันเร็ว จากการจับจุดได้ว่าลูกค้าในสมัยนี้ในยุคนี้ต้องการความเร็วเราจึงทำบริษัทให้ lean มากๆ จนแทบไม่มีการแบ่งแยกชนชั้นในการทำงานเลย
ลูกค้าไม่ได้เป็นแค่ ‘พาร์ทเนอร์’ แต่คือ ‘เพื่อนสนิท’
ศรัณย์ : เราจะบอกลูกน้องเสมอว่าให้ดูแลลูกค้าเป็นเพื่อน เพราะส่วนตัวเราไม่เชื่อเรื่องลูกค้าคือพระเจ้า แต่คิดว่าทุกคนเป็นเพื่อนกันหมด เพราะถ้าบอกว่าลูกค้าเป็นลูกค้ามันจะเป็นอีกแบบหนึ่ง ส่วนถ้ามองว่าเพื่อนกันเพื่อนกัน คือไปกินข้าวกันได้ ถ่ายรูปคุยเล่นกันได้ ซึ่งเราจะพยายามปลูกฝังว่าทุกคนต้องเป็นเพื่อนกับลูกค้า
เพราะว่าพอเป็นเพื่อนกันแล้วจะกล้าบอกความจริงซึ่งกันและกัน ทำให้กล้าบอกว่าอันนี้ถูกอันนี้แพง หรืออันนี้ดีไม่ดีนะ สิ่งนี้ทำให้ลูกค้าเชื่อใจเราจนทำงานได้ไม่ค่อยยาก เพราะลูกค้าเขาเชื่อเรามาเป็นทุนเดิมอยู่แล้วจากการไว้ใจในแบบของเพื่อน
ต้องสร้าง ‘ความเชื่อใจ’ อย่างไรให้ได้ผลจริง
ศรัณย์ : ถ้าอยากสร้างความสนิทกับลูกค้า ก่อนอื่นเหมือนที่บอกคือเราต้องมองเขาเป็น ‘เพื่อน’ สมมติเพื่อนเดือดร้อน ซึ่งในที่นี้อาจจะเป็นเพื่อนโดนเจ้านายด่ามาแล้วมาด่าเราอีกที ก็ต้องเข้าใจเขาว่าบางทีที่เขามาด่าเรานั้นเขาไม่ได้อยากด่าเรา แค่ถ่ายทอดสิ่งที่เขาโดนเจ้านายด่าเขามา
เชื่อว่าจุดหลักมากๆ คือ ‘ทำงานอย่างไรให้เจ้านายเขาชอบเขา’ เพราะลูกค้าไม่ต้องรักเราก็ได้ แต่นายของลูกค้าต้องรักเขา เพราะถ้านายรักเขาแล้วก็จะรู้สึกว่าทำกับเจ้านี้ดีกว่า ซึ่งมันเป็นอีกขั้นหนึ่งของความคิดในการทำงาน
คุณจำไว้นะ ว่าถ้าเป็นกะเทย คุณก็ไม่มีวันเจริญได้หรอก
Uppercuz คือเอเจนซี่ที่อ้าแขนต้อนรับเหล่า LGBT
ศรัณย์ : เราเป็นคนที่มีความเชื่อมากๆ ว่ามันไม่เกี่ยวกับการที่จะเป็นเพศไหน จะอายุเท่าไร หรือคุณต้องเป็นใครจึงจะทำงานให้ออกมาดีได้ เพราะเคยโดนอาจารย์ดุตอนเรียนสมัยมหาวิทยาลัย ตอนกำลังพรีเซนต์โปรเจกต์จบในตอนนั้นเราพูดคำว่า“ค่ะ” เป็นคำลงท้าย
จนอาจารย์เขาบอกว่าคุณห้ามพูด “ค่ะ” ในห้องตรวจของผม ไม่งั้นผมก็จะไม่ให้คุณตรวจงาน และคุณต้องพูดให้ตรงตามเพศสภาพของคุณเท่านั้น ซึ่งมันแรงมาก และแรงจนทำให้เรากลับมาทบทวนว่าตัวเองผิดอะไร พร้อมกับอยากพิสูจน์ให้รู้ว่าการเป็นกะเทยมันไม่เกี่ยวอะไร
สิ่งนี้ทำให้เรารู้สึกว่าบางทีมันเป็นแนวคิดที่ตีกรอบของสังคมไทยบางส่วน เพราะถ้าเกิดคิดในแง่บวกแล้วลองเลือกจะรับพนักงานที่เป็นเพศที่สามเข้ามาทำงาน เขาอาจจะได้ค้นพบเลยว่าเราสามารถสร้างงานที่เหนือความคาดหมายให้เขาได้เหมือนกัน
แล้วการเป็น LGBT สามารถสร้างงานที่เหนือความคาดหมายได้อย่างไร ?
ศรัณย์ :
คือต้องบอกว่า LGBT นั้นใน DNA ตั้งต้นของเขาเนี่ยเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงแต่แนวคิดของเขาก็เป็นได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิงเช่นกัน เพราะจะสามารถเสิร์ฟงานให้งานทั้งผู้ชายและผู้หญิงคิดในคนๆ เดียวได้ และเราใช้งานได้หลากหลายแม้กระทั่งการเซ็ตทาร์เก็ตของโฆษณา บางบริษัทอื่นเขาไม่ได้มี LGBT เยอะเขาก็อาจจะไม่ได้เข้าใจ
อย่างเคยเจอที่เซ็ตว่ากะเทย เกย์ คือผู้ชายชอบผู้ชาย แต่เขาก็ไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วกะเทยคือคนที่ไม่อยากบอกใครว่าเป็น มันไม่ใช่เรื่องที่น่าภูมิใจขนาดนั้น ในสังคมไทยตัวพี่เองอาจจะเป็นคนที่ภูมิใจ แต่มันจะมีคนที่เขาไม่ได้ภูมิใจกับการที่เขาเกิดมาเป็นแบบนี้เหมือนกัน
จริงๆ LGBT เองจะมีความแตกต่างอย่างมีนัยยะ บางคนจก็ะไม่เข้าใจเลยว่าทำไมต้องเต้น ทำไมต้องไปซอยสอง ติดภาพเพศที่สามแค่บางมุม หรือติดภาพอาชีพเดิมๆ ที่ LGBT ต้องทำเท่านั้น เช่น ช่างแต่งหน้า ช่างทำชุด หรือแม้แต่ต้องไปเป็นแม่ค้า แต่อยากบอกว่าอย่าคิดไปเอง เพราะกะเทยมีสมองและฉลาดได้ ซึ่งจริงๆเบื้องหลังแบรนด์ใหญ่ๆจะมี LGBT อยู่เยอะเหมือนกัน
เคยมีพนักงานคนนึงสมัครงานมามากกว่า 5 ที่แล้วไม่มีใครรับ
โลกการทำงานสำหรับ LGBT ค่อนข้างโหดร้าย ?
ศรัณย์ : สำหรับกะเทยจะมีแนวคิดที่สู้คือไม่สู้ไม่ได้ เพราะโลกมันโหดร้ายสำหรับเขาเคยมีพนักงานคนนึงสมัครงานมามากกว่า 5 ที่แล้วไม่มีใครรับ แต่พอมาสมัครกับเราก็รับเลย เพราะใจเราอยากรู้ว่าทำไมคนถึงไม่รับ และงานที่เค้าทำได้ก็ดีมากก็เป็นการพิสูจน์เรื่องนี้สำหรับตัวพี่เองว่าอย่าตัดสินใครที่ภายนอก
ปรากฏว่ารับมาทำงานได้เพียงปีเดียวก็ขึ้นจากระดับ Junior แล้วขยับเป็น Assitant Manager ได้ เพราะเขาเก่งจริงๆ เพียงแต่สำหรับคนอื่นพอเห็นว่าเป็นกะเทยก็บอกว่า “คงยากนะถ้าจะทำงาน” ซึ่งจุดนี้เราก็พยายามพิสูจน์กับสังคมไทยให้เห็นว่าสิ่งไหนที่จริงไม่จริง หรือสิ่งไหนที่เป็นภาพลวงตา
ต้องพิชชิ่งงานให้เหมือนทำการบ้านมาทั้งปี
ศรัณย์ : วิธีการคือเราจะทำไปมากกว่าเสมอ โดยจะประเมินเวลาเอาไว้เลย สมมติว่าได้รับบรีฟมาเมื่อวันจันทร์ แต่ต้องไปพิชชิ่งงานในวันศุกร์ สิ่งที่ทำคือจะคำนวณว่าอีกเอเจนซี่น่าจะทำได้ไหวแค่ไหนในการที่จะทำงานนำเสนอชิ้นหนึ่ง แล้วเราก็จะเพิ่มระดับของงานลงไปให้มากกว่า
อย่างบางครั้งที่ไปพิชชิ่งงานจะมีตัวอย่างกราฟิก พร้อมคอนเทนต์ในอนาคตอีก 6 เดือนข้างหน้าไปให้ลูกค้า ซึ่งเมื่อเทียบกับเจ้าที่ไม่มีตัวอย่างแบบเห็นภาพชัดก็ทำให้เราได้งาน
มองว่ามันเป็นการคิดง่ายๆ ที่คิดภายใต้หลักการเดิมคือ เราคิดว่าเพื่อนอยากเห็นอะไร ลูกค้าอยากรู้อะไร เราก็ทำไปให้ได้ตามที่ลูกค้าอยากรู้ แล้วเราก็จะสนุกสนานกับลูกค้าเสมอ เพราะเชื่อว่าเขาทำงานหนึ่งวันเขาก็เครียดมากพออยู่แล้ว เขาไม่อยากเครียดกับเอเจนซี่อีก เพราะฉะนั้นถ้าใครอารมณ์ดีก็ยิ่งเพิ่มโอกาสได้งาน
อย่างวันนึงไปพิชชิ่งงานแล้วบริษัทอื่นใส่สูท แต่เราใส่เสื้อสีเดียวกับสีของบริษัทลูกค้า แล้วเข้าไปพิชชิ่งงานแบบเดินรอบห้อง หรือสมมติบริษัทอื่นอาจจะทำดีไซน์ไป แต่บริษัทเราทำดีไซน์พร้อมตัด HTML ออกมาเป็นเว็บไซต์ แล้วให้ลูกค้าสแกนบาร์โค้ดเช้าดูได้เลยว่าคือเว็บไซต์ที่กำลังจะทำ
สิ่งนี้ทำให้ขายงานได้ เพราะลูกค้าเห็นงานไปกว่า 80% แล้ว อีกอย่างคือส่งผลว่าลูกค้าสามารถไปบอกกับเจ้านายได้ว่าเตรียมเสร็จก่อนกำหนด และลูกน้องก็ได้ผลงานดี โดนนายชม แล้วเขาก็กลับมาชมเราต่อ
แล้วมันจะทำให้งานของเราหนักขึ้นไหม
ศรัณย์ : ถามว่าหนักไหมก็หนักนะ แต่มันคือความสุขของคนทำงาน เราจะบอกน้องๆ ว่ามีทางเลือกว่าทุกคนจะช่วยกันทำงานให้หนักขึ้น นอนกันให้ดึกขึ้น เพื่อที่เราจะได้ไปยินดีกันในวันศุกร์
หรือวันนี้เราจะกลับบ้านเร็ว ทุกอย่างทำไปปกติ แต่เราจะเสียใจในวันศุกร์ว่ารู้งี้เราทำเพิ่ม จนมันทำให้น้องๆ ทุกคนชอบทำงานที่ต้องพิชชิ่งมากกว่าธรรมดาทั่วไป เพราะเขาจะตื่นเต้นมากเหมือนเด็กน้อยอยากพิสูจน์ตัวเอง
ดูแลคนอย่างไรให้อยู่แล้วมีความสุข
ศรัณย์ : ทุกๆใบสมัครงานที่ส่งมาที่บริษัท เราจะดูก่อนเบื้องต้นด้วยตัวเองทั้งหมด แล้วค่อยเลือกคนที่พี่รู้สึกว่าใช่ไปให้หัวหน้าทีมเรียกมาสัมภาษณ์ สมมติมีพนักงานใหม่มานั่ง จะมีคนเดินมาหาทุกชั่วโมง ถามว่าได้หรือยัง ทำยังไง ทำแบบนี้ แล้วมันก็จะเป็นงานเร็วมาก แล้วเขาก็รู้สึกดีใจมากที่มีคนสอนงานเขา
เรามีแนวคิดนึงว่า ทำยังไงให้เวลาลูกน้องเราเวลาไปนั่งกินข้าวกับเพื่อนเขา แล้วเป็นคนที่มีชีวิตน่าอิจฉา เราคิดว่ามันแค่นั้นเลย สมมติวันหยุดสิ้นปี ปกติหยุดกันสามสี่วัน แต่บริษัทเราหยุดให้เป็นสิบวัน
หรือเวลาไปเจองานที่ทำสวยๆ ก็จะทักไลน์แล้วก็ชื่นชม ทีมก็จะรู้สึกดีใจ เราต้องกล้าชมในที่แจ้ง แล้วค่อยไปติในที่ลับ และรู้สึกว่าพี่ต้องหาคุณค่าให้กับพนักงานทุกคน มันจะมีพนักงานบางคนที่ทำงานไม่เก่ง แต่มีคุณค่าให้กับบริษัทได้ เพราะเขาเป็นกาวประสานใจกับคนในบริษัทได้
คนที่ Uppercuz มองหาเพื่อมาร่วมงานด้วย
ศรัณย์ : เราหาคนที่มีพลังงานบวก คนที่สดใส คนที่ทำให้ห้องสัมภาษณ์งานสว่างสดใน บางทีคนอื่นอาจจะมองหาคนที่ เก่งงาน ทำงานดีงานเป๊ะ แต่เรามองหาคนทำงานที่ มีพลังงานบวก หรือคนที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจ ความสนุกสนาน ให้คนอื่นได้
เพราะที่บริษัทมีแนวทางการทำงานและความเชื่อว่า งานที่ดีต้องมาจากคนที่อารมณ์ดี ถ้าอารมณ์ขุ่นมัว ไม่สดใส มันก็ยากที่จะสร้างงานดีๆ ทำให้ที่บริษัท มีเสียงหัวเราะ และความสนุกตลอดเวลา งานที่ออกมาก็เลยดี
อีกอย่างคือการเลือกใช้บุคลากรที่เก่งที่สุดในแต่ละด้าน เช่น เต้นเก่งสุด พูดเก่งที่สุด อย่างเขาเป็นคนเต้นเก่งนั่นแปลว่าเขาแสดงออก แล้วพอเขาเป็นคนแสดงออกแปลว่าเขาจะคุยกับลูกค้าได้ดี
อย่างคนเต้นเก่งก็แปลว่าเขากล้าแสดงออก เราก็จะเอาเขาไปอยู่ในแคมเปญอะไรที่ลูกค้าสนุกๆ บางทีเขาก็ชวนกันไปเที่ยวกับลูกค้า ก็จะยิ่งรักกัน สนิทกัน เพราะถ้าสมมติพี่ใช้คนทำงานเก่งแต่เขาไม่ออกไปเที่ยวเลย เขาก็ไม่มีโอกาสได้สนิทกับลูกค้า
การตัดสินใจเปลี่ยนงานมักเกิดขึ้นในวงสนทนา
ศรัณย์ : ส่วนหนึ่งต้องทำยังไงก็ตามให้เขารู้สึกว่าเวลาเขาไปคุยกับเพื่อนเขา แล้วเขารู้สึกว่าเขาอยู่ในที่ดีๆ เพราะว่าคนมันจะออกไม่ออก จะปลี่ยนงานหรือไม่เปลี่ยนงานก็มักเกิดขึ้นในวงสนทนา หรือในกลุ่มไลน์กันทั้งนั้น อย่างกลุ่ม LINE ที่ทำงานเก่า กลุ่มเพื่อนมัธยม
ในอดีตเคยมีน้องจากมหาวิทยาลัยต่างจังหวัดมาทำงานกับเราคนหนึ่ง แล้วเขาไปลากกลุ่มเพื่อนจากมหาวิทยาลัยของเขาเข้ามาทำงานด้วย จนทุกวันนี้มีอยู่ 6-7 คนที่ได้รับการแนะนำมาจากแก๊งมหาลัยของเขา ซึ่งทำให้เราได้คนที่ใช่
สุดท้ายศรัณย์แนะนำกับเราว่าถ้าอยากเปิดเอเจนซี่เป็นของตัวเอง สิ่งที่ต้องทำคือการหาจุดเด่นว่าเก่งเรื่องไหน ฉลาดเรื่องอะไร แล้วนำสิ่งนั้นมาเป็นจุดขายของเรา ซึ่งหากไม่มีจุดเด่นของตัวเองในตลาดการทำเอเจนซี่ทุกวันนี้จะเป็นอะไรที่ยากมาก เพราะแค่มีคนไม่กี่คนมารวมตัวกันก็เป็นบริษัทเป็นเอเจซี่ออนไลน์ได้แล้ว ดังนั้นจึงต้องโฟกัสให้มากที่เรื่องของจุดเด่นที่แตกต่างอย่างถูกต้อง