Site icon Thumbsup

วัคซีนก็รักษาไม่หาย เมื่อเศรษฐกิจโลกบอบช้ำเกินเยียวยา

วัคซีนถือเป็นกุญแจสำคัญที่หลายประเทศเฝ้ารอเพื่อให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นฟู วิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จำนวนผู้ป่วยทั่วโลกเพิ่มขึ้นทุกวัน หลายประเทศอยู่ในภาวะล็อกดาวน์ และยังไม่รู้จะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว การค้า และการลงทุน ส่งผลให้เศรษฐกิจหลายประเทศทั่วโลกเผชิญกับภาวะถดถอย

ขณะที่การผลิตวัคซีนซึ่งเป็นความหวังเดียวกลับมีหลายขั้นตอนและใช้เวลานาน ทั้งการระบุเชื้อไวรัส การทดสอบในคนให้มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ รวมถึงไวรัสที่อาจกลายพันธุ์ได้ทุกเมื่อ นักวิจัยจึงคาดว่าวัคซีนสำหรับ COVID-19 จะสามารถผลิตสำเร็จได้ภายปี 2564

ปัญหาหลังผลิตวัคซีน

แต่ก็ยังดีใจไม่ได้แม้ว่าวัคซีนจะออกมาแล้ว แต่ปัญหาที่ตามมาคือปริมาณวัคซีนที่ผลิตออกมา กระบวนการถ่ายทอดความรู้ไปยังประเทศต่างๆ การกระจายวัคซีนอย่างเท่าเทียม อุปสรรคสำคัญคือห่วงโซ่อุปทานของวัคซีนมีความซับซ้อนมากกว่าสินค้าทั่วไป ที่จะต้องได้รับการดูแลพิเศษจากผู้เชี่ยวชาญ

รัฐบาลบางประเทศรวมทั้งสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรป ได้ลงทุนในบริษัทผู้ผลิตยาระดับโลกหลายแห่งอย่าง Pfizer, BioNTech, AstraZeneca และ Moderna พร้อมทำข้อตกลงในการซื้อวัคซีนให้กับประชาชนในประเทศ

อย่างที่กล่าววัคซีนไม่เหมือนกับสินค้าทั่วไป การกระจายวัคซีนที่ไม่ทั่วถึงจะไม่เกิดประโยชน์เพราะหากคนบางกลุ่มยังมีการติดเชื้ออยู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจก็ไม่สามารถดำเนินได้ การเดินทางยังต้องถูกจำกัด คนไม่สามารถจับจ่ายใช้สอย ธุรกิจก็ขาดสภาพคล่อง เงินไม่หมุนเวียนในระบบ สุดท้ายวัคซีนก็ไม่ส่งผลดีกับสภาพเศรษฐกิจ

ทุกอย่างมีราคาที่ต้องจ่าย

ย้อนกลับมาก่อนที่วัคซีนจะผลิตสำเร็จ ทุกอย่างมีต้นทุนในการรองรับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นค่ายา ค่าขนส่ง ค่าตรวจแล็บ ค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ ชุด PEE ห้องความดันลบ สถานที่ดูแลต่อเนื่อง รวมถึงจ่ายชดเชยบุคลากรสาธารณสุขหากเกิดความเสียหาย 

ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงภาคเอกชนที่ต้องจัดโปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม เพื่อดึงดูดลูกค้า และรัฐบาลทั่วโลกที่ต้องใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่แตกต่างกันไป ด้านรัฐบาลสหรัฐใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) แบบไม่จำกัดวงเงิน

ส่วนรัฐบาลไทยเองก็กู้เงินมาจัดโครงการต่างๆ อาทิ “เราไม่ทิ้งกัน” “เราเที่ยวด้วยกัน” “คนละครึ่ง ” เพื่อลดค่าครองชีพและกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งน่าจะได้ผลในระยะสั้น แต่ในระยะยาวประเทศไทยก็ยังต้องพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวและการส่งออก

อย่างไรก็ตาม แม้เศรษฐกิจจะย่ำแย่แค่ไหน หากยังผลิตวัคซีนไม่สำเร็จ เราก็ยังคงต้องสวมหน้ากากอนามัย และเว้นระยะห่างกันต่อไป..

ฐานเศรษฐกิจ, CNBC, สปสช.