Site icon Thumbsup

ทำไมแหล่งเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในไทยไม่เติบโต?

editorial note: บทความนี้คือบทความพิเศษ (ที่เราเรียกว่า Guest Post) จาก? วิณณ์ ผาณิตวงศ์ (@winvestor) ผู้ร่วมก่อตั้ง @boxboxdotme โดยส่งมาให้กองบรรณาธิการ thumbsup อัพโหลดขึ้นให้ชาว thumbsup โดยเฉพาะ สิ่งที่ วิณณ์เขียน ไม่สะท้อนแนวคิดของกองบรรณาธิการ thumbsup เป็นเพียงมุมมองส่วนตัวของวิณณ์นักลงทุนและผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีรุ่นใหม่ไฟแรง ว่าแล้วก็อ่านกันได้โดยพลัน

ในต่างประเทศ Venture Capital (VC) นับว่ามีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดบริษัทเกิดใหม่ (Startup) เป็นอย่างมาก เพราะเข้ามาเติมเต็มความต้องการเงินทุนของ Startup ที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งธนาคารไม่สามารถรับความเสี่ยงตรงนี้ได้ โดยเฉพาะ Startup ด้าน Consumer Internet ซึ่งมักไม่มีสินทรัพย์อะไรนอกจากคอมพิวเตอร์กับ Program ที่เขียนขึ้นมา

โดย VC? จะมีรูปแบบการลงทุนที่ต่างจากธนาคารพาณิชย์ในหลักกว้างคือ การที่จะลงทุนในส่วนทุน (Equity) ของบริษัทแทนที่จะให้กู้ยืม (Debt) โดยที่ VC จะหวังผลตอบแทนที่สูงกว่าเพราะร่วมหัวจมท้ายกับบริษัทในขณะที่ธนาคารมักจะมีหลักประกันเงินกู้จึงยอมรับผลตอบแทนที่ต่ำกว่าตามหลัก เสี่ยงมาก ก็ได้ผลตอบแทนสูงกว่า (High risk, high return)

ส่วนใหญ่แล้ว VC จะมีผู้ประกอบการที่มีประสบการณ์ในการสร้างบริษัทที่ประสบความสำเร็จเป็นผู้จัดการ เนื่องจากมีโอกาสสูงที่จะเลือกบริษัทที่มีศักยภาพและให้คำปรึกษาได้อย่างถูกต้อง บริษัทดังๆ เช่น Twitter, Facebook, Instagram และแม้กระทั่ง Google ล้วนได้รับเงินทุนจาก? VC ในการเริ่มต้นบริษัท

คนที่เข้าหา VC นั้นไม่ใช่ว่าไม่มีเงินนะครับ แม้แต่ Entrepreneur ที่เคยประสบความสำเร็จและขายบริษัทไปแล้วพอจะตั้งบริษัทใหม่ก็ยังไปหาเงินจาก VC เช่น Caterina Fake ผู้ก่อตั้ง Flickr ก็เพิ่งได้เงินสนับสนุนจาก VC มาถึง 2 ล้านเหรียญสำหรับบริษัทใหม่ของเธอซึ่งยังไม่เปิดเผยว่าเกี่ยวกับอะไร หรือแม้แต่ Jack Dorsey แห่ง Twitter ก็ได้เงินมาหลายสิบล้านเหรียญสำหรับ Square (www.squareup.com)? ซึ่งเป็นบริษัทใหม่ของเขา

สาเหตุคงเป็นเพราะว่าการมี VC เข้ามาช่วยลดความเสี่ยงสำหรับผู้ก่อตั้งเพราะไม่ต้องลงเงินเองทั้งหมด อีกทั้งยังได้รับคำแนะนำและ connection ต่างๆ จาก VC และหากได้รับเงินสนับสนุนจาก VC ชื่อดังก็จะได้รับความสนใจอย่างมากจากสื่อมวลชนทำให้ได้โฆษณาฟรีอีกมากมายอีกด้วย

อย่างไรก็ตามในประเทศไทยนั้นนับว่าอุตสาหกรรม VC ยังอยู่ในขั้นตั้งไข่ และมีจำนวนน้อยมาก เช่น? ข้าวกล้า (Khaokla.com ของธนาคารกสิกรไทย) ซึ่งลงทุนในบริษัท บัณฑิตเซ็นเตอร์ เจ้าของ Kapook.com และ V Net Capital Co., Ltd. ซึ่งลงทุนใน Copperwired เจ้าของ iStudio

ส่วนโครงการอื่นๆ เช่นโครงการของตลาดหลักทรัพย์ซึ่งเคยพยายามจะจัดตั้งหน่วยงานที่ทำงานคล้าย VC ขึ้นมาก็ยังไม่ประสบความสำเร็จจากการที่นักลงทุนขาดความเข้าใจในการทำงานของ VC

โดยความเห็นของผมสาเหตุหลักที่ VC ในไทยไม่เติบโตเนื่องจากขาดระบบนิเวศน์ที่เหมาะสม2 ข้อใหญ่ๆ ดังนี้

1. จำนวน Startup น้อย เมื่อมีจำนวนน้อยโอกาสที่จะเจอบริษัทที่ประสบความสำเร็จก็ต่ำลง ซึ่งส่งผลให้จำนวน VC เองก็น้อยตามไปด้วย
2. ขาดผู้ซื้อ ผู้ซื้อในที่นี้หมายถึงบริษัทใหญ่ๆ ที่จะมาซื้อกิจการของ Startup ทำให้ทางออกหลักๆ คือต้องนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ หรือ ตลาด MAI ซึ่งต้องใช้เวลาในการแต่งตัวนาน อย่างไรก็ตามประเทศไทยไม่ใช่ไม่มีตัวอย่างของผู้ที่ขายบริษัทให้กับบริษัทใหญ่อื่นๆ ตัวอย่างที่เห็นได้คือ คุณปรเมศวร์ มินศิริ (@iwhale) ที่ขาย Sanook.com และคุณภาวุธ พงษ์วิทยภานุ (@pawoot) ซึ่งขายบางส่วนของ Tarad.com ให้กับ Rakuten ซึ่งนับว่าเป็น Entrepreneur ไทยที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง

แล้วเราควรจะทำอย่างไรถึงจะทำให้คนไทยหันมาทำ Startup กันมากขึ้น?

จริงๆ แล้วผมคิดว่าประเทศไทยเหมาะกับการทำ Startup เป็นอย่างมากเนื่องจากวัฒนธรรมที่อยู่กับครอบครัว ทำให้ไม่ต้องกังวลเรื่องที่กินที่อยู่มากนัก ทำให้ความเสี่ยงไม่สูง ผมว่าสิ่งที่สำคัญคือ เราต้องกล้าที่จะลองทำและถ้าผิดพลาดก็ลุกขึ้นใหม่และทำต่อ ตัวผมเองก็ทำเว็บเจ๊งกับเพื่อนไป 2 เว็บ แล้ว แต่ก็ยังคงพยายามต่อไป ดังนั้นเรามาช่วยกันผลักดันให้คนไทยทำ Startup กันมากขึ้นเถอะครับ เพื่อเราจะได้มีบริษัทไปโลดแล่นในเวทีโลกกับเขาบ้าง

(อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ VC ได้ที่ http://en.wikipedia.org/wiki/Venture_capital)
ภาพ: The College Cupids