แม้เหล่าเอเจนซีและผู้บริหารบริษัทสื่อความบันเทิงมากมายจะแสดงความเห็นให้ความสนใจกับการสร้างวิดีโอแนวตั้งหรือ Vertical Video เพราะเครือข่ายสังคมอย่าง Snapchat และ Periscope เป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้วิดีโอแนวตั้งถูกพูดถึงในวงกว้าง แต่รายงานล่าสุดกลับพบว่าในทางปฏิบัติ หลายแบรนด์ทั่วโลกยังรีรอที่จะเดินตามเทรนด์นี้ แต่หันไปให้ความสนใจกับวิดีโอโฆษณาในรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสมากกว่า
รายงานจากสำนัก AdAge ยกตัวอย่างแบรนด์โอเปอเรเตอร์รายใหญ่ในสหรัฐฯอย่าง AT&T และทีมงานผู้อยู่เบื้องหลังการสร้างวิดีโอชุด “SnapperHero” ที่เผยแพร่บนเครือข่ายสังคม Snapchat ในช่วงปีนี้ โดยระบุว่าทีมงานต้องปรึกษากันอย่างหนักว่าซีรียส์นี้ควรถ่ายทำในแนวนอนตามสไตล์รายการโชว์ทั่วไป หรือควรจะถ่ายแนวตั้งเหมือนวิดีโอส่วนใหญ่บน Snapchat? ผลสุดท้ายแล้วซีรียส์นี้ถูกพัฒนาเป็นภาพวิดีโอสี่เหลี่ยมจัตุรัสชนิด “พบกันครึ่งทาง”
รายงานนี้ชี้ว่า ผู้สร้างภาพยนตร์ดิจิทัลและนักการตลาดทั่วโลกกำลังตั้งคำถามลักษณะนี้กับตัวเองมากขึ้นต่อเนื่อง ผลจากเครือข่ายสังคม Snapchat และแอปพลิเคชันกลุ่ม live-streaming apps อย่าง Periscope ของ Twitter และ Meerkat ที่เริ่มผลักดันมาตรฐานวิดีโอแนวตั้งอย่างจริงจัง เพื่อให้ผู้ใช้ไม่ต้องพลิกด้านสมาร์ทโฟนเพื่อชมคลิปแบบเต็มจอ
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือหน้าจอในโรงภาพยนตร์ ทีวี หรือแม้แต่หน้าจอคอมพิวเตอร์ วิดีโอที่แสดงบนสื่อเหล่านี้ล้วนอยู่ในรูปแบบแนวนอนทั้งสิ้น นี่เองที่ทำให้กระแสวิดีโอแนวตั้งถูกมองว่าอาจไม่ได้เป็นเพียงเทรนด์ แต่จะเป็นการปฏิวัติสื่อวิดีโอขนานใหญ่
การปฏิวัตินั้นต้องใช้เวลา เหตุผลนี้เป็นคำตอบให้กับสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ที่นักการตลาดจำนวนมากกำลังใช้เวลาชั่งใจก่อนจะตัดสินใจเดินตามเทรนด์ vertical video เนื่องจากต้นทุนและข้อจำกัดในการนำไปเผยแพร่บนสื่ออื่น
ในขณะที่แบรนด์อย่าง Taco Bell ตอบรับ vertical video แล้ว แต่หลายแบรนด์ยังไม่มั่นใจและให้น้ำหนักกับฟอร์แม็ตวิดีโอสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่มีให้บริการบนเครือข่ายสังคม Instagram และ Vine มากกว่า โดยเอเจนซี่อย่าง 72andSunny ให้ข้อมูลว่ายังไม่ได้รับคำขอจากลูกค้ารายใด ให้สร้างวิดีโอแนวนอนเพื่อเผยแพร่บน Snapchat, Meerkat หรือ Periscope
อย่างไรก็ตาม สื่ออเมริกันเชื่อว่าเหตุผลที่จะทำให้แบรนด์เปลี่ยนความคิดได้คืออิทธิพลของ Snapchat โดยปัจจุบัน Snapchat มีผู้ใช้มากกว่า 100 ล้านคน บนยอดชมวิดีโอมากกว่า 2 หมื่นล้านครั้งต่อวัน
ที่มา : AdAge