ใครที่อยากเห็นสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม การมาถึง “QR Code มาตรฐาน” อาจเป็นอีกหนึ่งก้าวของการสร้างสังคมดังกล่าวให้เกิดขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาความยากก็คือ การจับมือค่ายผู้ให้บริการการชำระเงินยักษ์ใหญ่ให้มาอยู่ร่วมกันภายใต้มาตรฐานเดียว
แต่ล่าสุดภายใต้การผลักดันของธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มีการจับมือกันของสามค่ายยักษ์อย่าง “Mastercard – UnionPay – Visa“ ในการสร้างแพลตฟอร์มแบบเปิดสำหรับรองรับการทำงานร่วมกันให้เกิดขึ้นแล้วเป็นครั้งแรกของประเทศไทย
โดยความร่วมมือกันครั้งนี้ได้ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศลำดับต้น ๆ ของโลกที่มีการใช้งาน “QR Code มาตรฐาน” อย่างเป็นทางการ รองจากอินเดีย ซึ่งประโยชน์ที่ผู้บริโภค – ธุรกิจรายย่อยจะได้รับคือ ความสะดวกสบาย เนื่องจากไม่จำเป็นต้องแยกว่าเป็น QR Code สำหรับ Mastercard หรือ UnionPay หรือ Visa อีกต่อไป ซึ่งสามารถพิจารณาได้จากคลิปดังต่อไปนี้
ในการเปิดตัวแพลตฟอร์มแบบเปิดสำหรับ QR Code มาตรฐานนี้ จำเป็นต้องทำงานร่วมกับแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนที่รองรับการทำงานกับ QR Code มาตรฐาน (เช่น แอปพลิเคชันของธนาคารต่าง ๆ) และกล้องดิจิทัล เพื่อให้สามารถสแกนและชำระค่าบริการได้
ส่วนขั้นตอนในการชำระค่าบริการนั้น ขึ้นอยู่กับการออกแบบของสถาบันการเงินผู้ให้บริการว่าจะออกแบบ User Interface เป็นเช่นไร แต่หลัก ๆ คือการสแกน QR Code ที่ร้านค้า หรือผู้ให้บริการรายย่อย (เช่น คนขับตุ๊กตุ๊กร้านกาแฟ ฯลฯ) และป้อนจำนวนเงินที่ต้องการชำระลงไปและกดยืนยัน โดยผู้ให้บริการแต่ละแห่งอาจต้องการการยืนยันตัวบุคคลที่แตกต่างกันออกไปมาใช้ร่วมกับการชำระเงินดังกล่าว จากนั้น ผู้ใช้งานจะได้รับ Notification เพื่อยืนยันการทำธุรกรรม
โดยในระหว่างนี้ ธนาคารและร้านค้าต่าง ๆ อยู่ในระหว่างการดำเนินการติดตั้ง QR Code มาตรฐาน โดยมีกำหนดแล้วเสร็จในไตรมาสที่สามของปี
คุณโดนัลด์ ออง ผู้จัดการทั่วไป ประจำประเทศไทยและเมียนมาร์ ของ Mastercard เผยว่า จากการสำรวจของ Mastercard พบว่า 50% ของผู้บริโภคที่มีอายุน้อยทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะหันมาใช้ QR Code ทันทีที่เปิดให้บริการ และเรามั่นใจว่าแนวโน้มนี้จะเกิดขึ้นในประเทศไทยเช่นกัน
ด้านคุณเหวินฮุ่ย หยาง ผู้จัดการทั่วไปประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ UnionPay กล่าวว่า UnionPay เชื่อว่า QR Code มาตรฐานจะสนับสนุนระบบเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้เพื่อก้าวสู่สังคมไร้เงินสดอย่างแท้จริง
สุดท้ายกับคุณสุริพงษ์ ตันติยานนท์ ผู้จัดการ Visa ประจำประเทศไทย เผยว่า QR Code มาตรฐานเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ทำให้การซื้อขายเกิดขึ้นได้ และมีความปลอดภัยสูง เนื่องจากการจะจ่ายเงินด้วย QR Code มาตรฐานจะเกิดขึ้นได้ ข้อมูลก็ต้องวิ่งผ่านระบบเครือข่าย วิ่งผ่านระบบรักษาความปลอดภัยของธนาคาร รวมถึงระบบรักษาความปลอดภัยของตัวเครื่องสมาร์ทโฟน ที่สำคัญที่สุดคือ ตัวผู้ใช้งานเองที่ต้องเป็นคนยกสมาร์ทโฟนขึ้นสแกน QR Code เพื่อจ่ายเงิน ดังนั้นจึงเป็นบริการที่ปลอดภัยขึ้นภายใต้ต้นทุนของภาคธุรกิจที่น้อยลงนั่นเอง
ทั้งนี้ ข้อมูลจากบริษัทมูดี้ อนาลิติกส์ ของ Visa เกี่ยวกับผลกระทบในการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจจากการชำระเงินในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์กว่า 70 ประเทศทั่วโลกระหว่างปี 2554 – 2558 พบว่า การชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์สามารถเพิ่ม GDP ให้กับประเทศไทยได้มากถึงร้อยละ 0.19 ซึ่งถือเป็นสถิติที่ได้ผลเชิงบวกมากที่สุดในทวีปเอเชีย