จากผลการประกาศรางวัลเวที DAAT Award 2017 ที่ผ่านมาในหัวข้อ บุคคลโฆษณาดิจิทัลเยี่ยมยอดแห่งปี 2559 นอกจากชื่อของบุคลากรของเอเจนซียักษ์ใหญ่ที่หลายคนรู้จักกันดีจะได้ปรากฏบนเวทีในฐานะผู้ได้รับรางวัลแล้ว ชื่อขององค์กรน้องใหม่มาแรงอย่าง “Rabbit’s Tale” ก็กลายเป็นชื่อที่ปรากฏบนเวทีแห่งนี้ถึงสองครั้ง กับตำแหน่ง Creative of The Year ที่ตกเป็นของคุณนรนิติ์ ยาโสภา และตำแหน่ง Young Achiever of the Year ที่ตกเป็นของคุณสโรจ เลาหศิริ
ไม่เพียงเท่านั้น ในปีที่ผ่านมา แรบบิท ดิจิทัล กรุ๊ป (Rabbit Digital Group) ยังคว้ารางวัลจากเวทีต่าง ๆ มามากมาย อาทิ รางวัลBronze Award และ Silver Awardจากเวที ADMAN Awards ในผลงานCanon Redefineและรางวัล Bronze Awardจากเวที ADMAN Awards และ MAAT AwardsในผลงานDesigning Veranda ส่วนในเวทีต่างประเทศ ก็สามารถคว้ารางวัล Bronze Awardจากเวที ADFEST 2016 มาได้เช่นกัน
นั่นจึงเป็นที่มาของการได้พูดคุยกับสองผู้บริหารอย่างคุณสโรจ เลาหศิริ (ซ้าย) Chief Marketing Officer และคุณนรนิติ์ ยาโสภา Executive Creative Director สองผู้บริหารจาก Rabbit Digital Group เจ้าของรางวัลบุคคลโฆษณายอดเยี่ยมแห่งปี ถึงมุมมองของการสร้างสรรค์ผลงานบนเวทีโฆษณาดิจิทัลว่าจากความสำเร็จที่ผ่านมาว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้พวกเขาก้าวเข้ามาถึงจุดนี้ และอะไรคือความท้าทายที่รอพวกเขาอยู่ในอนาคตข้างหน้า รวมถึงทัศนะที่น่าสนใจเกี่ยวกับวงการดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งที่กลายเป็นตัวขับเคลื่อนตลาดในปัจจุบันไปแล้วด้วย
โดยคุณนรนิติ์เจ้าของรางวัล Creative of The Year เผยว่า “เวลาเราคิดงาน เราจะถามตัวเองว่า มันใช่โซลูชันที่ตอบโจทย์แล้วหรือยัง เช่น ถ้าลูกค้าบอกว่านี่คือสิ่งที่เขาต้องการ เราก็ต้องมามองว่า แล้วมันแก้ปัญหาของลูกค้าได้ไหม บางทีเราอาจต้องย้อนไปที่โจทย์ใหม่ว่าทำไมลูกค้าถึงต้องการให้แก้ปัญหานี้ กลับไปถามลูกค้าใหม่ว่าสิ่งที่มันเกิดขึ้นมันใช่สิ่งที่คุณต้องการจริง ๆ หรือเปล่า”
“เช่นคุณอยากได้หนังโฆษณา แต่จริง ๆ สิ่งที่คุณอยากจะแก้ มันอาจเป็นการลองเปิดตัวโปรดักซ์ใหม่ หรือเซอร์วิสใหม่เพื่อจะมาตอบสนองตรงนี้หรือเปล่า ผมจะได้พูดแมสเซจนี้ออกไปได้ เป็นต้น พอเรายังไม่เจอโซลูชันจริง ๆ มันก็จะยังไม่ได้งานดี เราก็จะยังไม่รู้สึกพอใจ จะทำให้เรารู้สึกพอใจก็คือเราต้องแก้โจทย์นี้ได้มากกว่า”
ด้านคุณสโรจ ในฐานะ Young Achiever of the Year เผยว่า สิ่งที่ท้าทายพวกเขาในอนาคตก็คือ สเกลของงานที่เข้ามานั้นใหญ่มากขึ้น อีกทั้งทีมยังได้รับโอกาสให้พิทช์งานคู่กับเอเจนซี่ชั้นนำ ซึ่งถือเป็นปีที่ต้องต่อสู้ แสดงผลงาน และโชว์แนวคิดความเป็นมืออาชีพให้มากขึ้นนั่นเอง
ยิ่งในปี 2560 ซึ่งเป็นปีที่มีการคาดการณ์กันว่า แนวโน้มของสื่อโฆษณาดิจิทัลจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในวงการสื่อของประเทศไทย และอาจมีการเติบโตด้านเม็ดเงินโฆษณาทะลุหลัก 1 หมื่นล้านบาทด้วยนั้น ในมุมของนักโฆษณา คุณนรนิติ์ก็ได้ให้ทัศนะไว้อย่างน่าสนใจ โดยเขามองว่ามันเป็นการโยกย้ายตามพฤติกรรมของคน เมื่อพฤติกรรมเปลี่ยน การใช้จ่ายเงินด้านการโฆษณาจึงต้องเปลี่ยนตาม
“วันนี้เราเห็นว่า ตั้งแต่สมาร์ทโฟนเข้ามา ก็กลายเป็นว่าสื่อโฆษณาสามารถเข้าถึงคอนซูเมอร์ได้ง่ายขึ้นผ่าน Device ที่ทุกคนพกติดตัว ดังนั้น การ Spending มันจึงเยอะขึ้นตามช่องทางเหล่านี้”
“ความแตกต่างที่น่าสนใจก็คือ เมื่อก่อนเราใช้คำว่าดิจิทัลเข้ามาซัพพอร์ท แต่ตอนนี้ดิจิทัลเป็นแพลตฟอร์มหลักในการรันโปรเจ็ค ที่สามารถเข้าถึงคนได้กว้างมากขึ้น ดังนั้นสเกลงานมันจึงใหญ่ขึ้น และนำไปสู่การใช้จ่ายด้านงบโฆษณาที่มากขึ้นตามไปด้วย”
ด้านคุณสโรจ เสริมว่า “จริง ๆ ตอนนี้ตลาดกำลังอยู่ระหว่างการหาจุดสมดุลระหว่างสื่อ Traditional กับ Digital ใครที่บอกว่าสื่อ Traditional จะตายผมว่าไม่ใช่ แต่ต้องหาให้ได้ว่าจุดบาลานซ์ของมันอยู่ตรงไหน เพราะอย่าลืมว่า ประชากรอินเทอร์เน็ตของไทยนั้นแค่ 50% กว่า ๆ เท่านั้น เวลาไปต่างจังหวัด ทีวียังเป็นสื่อที่มีความจำเป็นอยู่ ผมจึงมองว่าตลาดกำลังเซ็ทตัว เราอยู่ระหว่างการทดลองว่าจะย้ายมาที่ดิจิทัลเท่าไรถึงจะเวิร์ก ซึ่งอาจต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง ไม่เกิน 2 – 3 ปีก็คงจะได้เห็นภาพที่ชัดขึ้น”
ในระหว่างนี้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับวงการโฆษณาดิจิทัลจึงอาจเป็นการพัฒนาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในด้านต่าง ๆ เข้ามาเสริมทีม เพื่อเตรียมความพร้อม รวมไปถึงการศึกษาเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น AI หรือบ็อท เอาไว้ ซึ่งการจะนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาปรับใช้ให้ได้ผลในเมืองไทยนั้น ทั้งคุณสโรจและคุณนรนิติ์ต่างก็มองว่า ต้องอาศัยจังหวะเช่นกัน เพราะบางทีการประยุกต์ใช้เร็วกว่าที่คอนซูเมอร์จะปรับตัวได้ทันก็อาจได้ผลตรงกันข้าม
สุดท้าย เมื่อถามถึงสิ่งที่คนโฆษณาดิจิทัลต้องเตรียมตัวสำหรับอนาคตนั้น คุณนรนิติ์ให้ความเห็นว่า เป็นเรื่องที่คาดเดายาก เพราะสิ่งที่กำลังเจริญเติบโตจะเติบโตแบบก้าวกระโดด อีกทั้งยังมีความอ่อนไหว ที่สามารถจะพลิกผันได้โดยง่าย ขณะที่คุณสโรจมองว่า “ความยากของเอเจนซี่คือการตามให้ทันเทคโนโลยี และรู้ว่าเมื่อไรต้องหยิบตัวไหนขึ้นมาใช้งานจึงจะตอบโจทย์ของลูกค้า กับอีกข้อคือความเร็ว เพราะโลกทุกวันนี้ ปลาเร็วกินปลาช้า ไม่ใช่ปลาใหญ่กินปลาเล็กแล้ว ถ้าเรายิ่งทำตัวเทอะทะ เป็นองค์กรใหญ่ เราก็พร้อมจะโดน Disrupt จากคนรุ่นใหม่ได้ตลอดเวลา”