พาส่องเทรนด์ “น้ำดื่มผสมวิตามิน” เครื่องดื่มทางเลือกใหม่ที่เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ตอบรับกับกระแสรักสุขภาพของผู้บริโภค บวกกับภาษีความหวานทำให้ธุรกิจเครื่องดื่มต้องปรับตัว ทำให้ผู้เล่นในตลาดเพิ่มขึ้นและมีมูลค่าตลาดพุ่งสูงถึง 5,500 ล้านบาท
ในช่วงหลายปีก่อนหน้านี้ในตลาดน้ำดื่มถูกจับจองพื้นที่ไปด้วย ‘ชาเขียว’ แต่ด้วยกระแสรักสุขภาพทำให้เครื่องดื่มที่มีความหวาน และน้ำตาลสูงไม่ตอบโจทย์ความต้องการอีกต่อไป สำหรับด้านผู้ประกอบการเองต้องรับมือกับภาษีสรรพสามิตจากค่าความหวานที่กลายเป็นตัวแปรให้หลายธุรกิจต้องตีตลาด ‘น้ำดื่มผสมวิตามิน’
ผู้เล่นในตลาดน้ำดื่มผสมวิตามันในไทย
ผู้เล่นรายแรก แบรนด์ “ยันฮีวิตามินวอเตอร์“ ภายใต้บริษัท ยันฮี วิตามิน วอเตอร์ จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจเครือโรงพยาบาลยันฮี ถือเป็นแบรนด์แรกๆ ที่เข้าสู่ตลาด ชูจุดเด่น ใส่ใจสุขภาพ ไม่มีน้ำตาล ไม่มีโซเดียม สร้างความสดชื่น โดยในปี 2562 ยันฮี วิตามิน วอเตอร์ มีรายได้ 467 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,229% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และมีผลกำไร 133 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 513% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
ตามมาด้วยแบรนด์ “VITADAY” (วิตอะเดย์) ภายใต้บริษัท เจนเนอรัล เบฟเวอร์เรจ จำกัด ที่มุ่งเน้นทำธุรกิจเครื่องดื่มรักสุขภาพมาตั้งแต่น้ำมะพร้าว แบรนด์ IF COCO (อีฟ โคโค่) ได้แตกไลน์สินค้าสู่น้ำดื่มผสมวิตามินหลากหลายรสชาติ พร้อมตัวเลือกวิตามินที่หลากหลายที่ปราศจากน้ำตาลและโซเดียม โดยในปี 2562 มีรายได้ 1,620,513,480.81บาท เพิ่มขึ้น 7.09% กำไร 102 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.55%
และแบรนด์ “B’lue” (บลู) ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของ บริษัทเซ็ปเป้จำกัด (มหาชน) เจ้าของเซ็ปเป้ บิวตี้ ดริ้งค์ และบริษัทดานอนเอสเอ (Danone SA) เจ้าของน้ำแร่เอเวียง เปิดตัวบริษัท ดาน่อน เซ็ปเป้เบฟเวอเรจส์ จำกัด ชูจุดเด่นน้ำดื่มผสมวิตามินที่มีรสชาติแตกต่างจากคู่แข่งในตลาด อาทิเพลย์ฟูลพีช โพสซิทีฟแพร์ และคูลคาลาแมนชี่ โดยจากรายงานของกรมธุรกิจการค้าพบว่าในปี 2562 บริษัทมีรายได้รวมทั้งหมด 186.59 ล้านบาท
ปิดท้ายด้วยแบรนด์ “PH Plus 8.5” (พีเฮชพลัส 8.5) น้องใหม่ในตลาดน้ำดื่มผสมวิตามิน ภายใต้เครืออิชิตัน กรุ๊ป ของ ตัน ภาสกรนที กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้อยู่ในวงการชาเขียวบรรจุขวดพร้อมดื่มมายาวนาน ก็หันมาตีตลาดน้ำดื่มผสมวิตามินอย่างเต็มตัว
ปัจจุบัน คาดการณ์กันว่า ตลาดเครื่องดื่มผสมวิตามิน น้ำเปล่าใส ไม่มีสี แต่มีกลิ่นและผสมวิตามินเข้าไปนั้น ในปี 2563 อาจมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 5,500 ล้านบาท และแนวโน้มการเติบโตก็ยังสูงขึ้นต่อเนื่อง
สอดคล้องกับข้อมูลของ Kantar Worldpanel การอธิบายถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคในไทย พบว่า คนไทยมีแนวโน้มการซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มหวานน้อยและไม่หวานเพิ่มขึ้น เฉลี่ยเป็น 5.1 ครั้งต่อปี เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่อยู่ราว 4.97 ครั้งต่อปี
ถือเป็นกลุ่มธุรกิจที่ต้องจับตามองเทรนด์ความต้องการและการแข่งขันที่ตอบโจทย์ทั้งในมุมผู้บริโภค รวมถึงผู้ประกอบการ
ที่มา กรมพัฒนาธุรกิจการค้า, MGR