จากยุคที่มนุษย์ต้องสื่อสารกับคอมพิวเตอร์ด้วยการป้อนคำสั่งลงไปในเคอร์เซอร์ แน่นอนว่าด้วยอินเทอร์เฟสในลักษณะดังกล่าว ทำให้คอมพิวเตอร์เป็นอุปกรณ์เฉพาะทางที่ไม่ได้เหมาะกับทุกคนบนโลกนี้ แต่เพียงชั่วเวลา 20 ปี เรากำลังเข้าสู่ยุคของการสั่งการด้วยเสียงกับคอมพิวเตอร์กันแล้ว วันนี้เราจึงขอชวนมาย้อนอดีต ตั้งแต่ยุคแรกของคอมพิวเตอร์จนมาสู่ยุคที่เราสามารถสั่งคอมพิวเตอร์ได้ด้วยเสียงกัน ไปจนถึงว่าในยุคของการสั่งการด้วยเสียงว่าจะมีความท้าทายอะไรซ่อนอยู่
สำหรับหลายคนที่ทันยุคคอมพิวเตอร์เวอร์ชัน Dos คงยังจำได้กับหน้าจอดำ ๆ และคำสั่งที่เป็นรูปแบบเฉพาะ ต่อมา คอมพิวเตอร์ได้พัฒนาขึ้นไปอีกขั้น ด้วยการสร้างภาพกราฟิกขึ้นมาบนหน้าจอ และใช้มันในการสื่อสารกับมนุษย์ รวมถึงมีเมาส์ให้คลิกเลือกคำสั่งที่ต้องการได้ ความสามารถนั้นได้ทำให้คอมพิวเตอร์กลายเป็นอุปกรณ์ที่รองรับงานต่าง ๆ ได้มากขึ้น และมีการใช้คอมพิวเตอร์ในภาคธุรกิจอย่างแพร่หลาย แต่ก็ยังไม่มีการใช้งานคอมพิวเตอร์เพื่อการโฆษณามากนัก โดยโฆษณาส่วนมากจะอยู่ในรูปของอีเมลเป็นหลัก
แต่โลกคอมพิวเตอร์ก็ยังพัฒนาต่อไปเพื่อให้ตอบรับกับความต้องการของมนุษย์ได้มากขึ้น นั่นก็คือการมาถึงของยุคสมาร์ทโฟน – อินเทอร์เน็ต – เสิร์ชเอนจิน – Social Media ที่ทุกอย่างขึ้นไปกระจุกตัวอยู่บนหน้าจอเล็ก ๆ ทั้งเรื่องของหน้าที่การงานและความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง และนั่นอาจเป็นช่วงเวลาที่กล่าวได้ว่าวงการคอมพิวเตอร์และวงการโฆษณาเข้ามาบรรจบกันอย่างสมบูรณ์
สมาร์ทโฟนกลายเป็นเครื่องมือที่แวดวงโฆษณาให้ความสำคัญ และมองว่าเป็นเครื่องมือที่สำคัญอย่างยิ่งในการเข้าถึงผู้บริโภคผ่านช่องทางต่าง ๆ ดังที่เราคุ้นเคยกันดี
แต่ความต้องการของมนุษย์ในยุคต่อไปก็น่าจะถูกกำหนดออกมาแล้วเช่นกัน นั่นคือการทำงานกับอุปกรณ์ที่รับคำสั่งได้ด้วยเสียง เช่น บรรดาลำโพงอัจฉริยะต่าง ๆ ที่ปัจจุบันมี Amazon Echo ครองส่วนแบ่งตลาดหลักเอาไว้อย่างเหนียวแน่น ซึ่งนั่นจะทำให้เราเข้าสู่ยุคของอินเทอร์เฟสตัวใหม่อย่าง Voice user interfaces หรือ VUI โดย VUI จะมาเพื่อตอบโจทย์คนที่เร่ิมมองเห็นประโยชน์ของการทำงานอย่างอื่นไปได้พร้อมกัน แทนที่จะต้องมาถือสมาร์ทโฟนตลอดทั้งวัน เช่น ทำอาหาร ขับรถ ปีนเขา เสริมสวย ฯลฯ
โดยมีการประมาณการณ์กันว่า 50% ของบริการเสิร์ชออนไลน์จะเปลี่ยนไปอยู่ในรูปแบบของเสียงภายในปี 2020 ด้วย ถ้าเช่นนั้นแล้ว ความท้าทายของนักการตลาดต่อยุค VUI คืออะไร ลองมาติดตามกันได้เลย
การเสิร์ชด้วยเสียงยาวกว่าการเสิร์ชด้วย Text
การพิมพ์ไม่ใช่เครื่องมือที่สะดวกนักสำหรับการถามหาสิ่งต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น เรายืนอยู่บนรถไฟฟ้า และต้องการเสิร์ชหาร้านอาหาร เราอาจสะดวกพิมพ์ได้แค่ “ร้าน อร่อย สยาม” แต่ถ้าเป็นการพูด แถมยังพูดกับลำโพง เชื่อว่าหลายคนคงพอนึกภาพออกว่า เราจะพูดยาวกว่าพิมพ์แน่ ๆ เช่น อาจเป็น “ช่วยหาร้านอาหารอร่อย ๆ ในสยามให้หน่อย”
ผลคือระบบต้องจับคีย์เวิร์ดมากกว่าเดิม เช่น อาจต้องจับให้ได้ว่ามีใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เมื่อไร ทำไม บนประโยคนั้นแล้วจึงค่อยไปค้นหาว่า ควรจะตอบกลับมาว่าอย่างไร
5W 1H จะกลายเป็นสิ่งสำคัญสำหรับนักการตลาด
การเสิร์ชด้วย Text แบบที่เราใช้กันในปัจจุบัน ไม่ค่อยมีใครสนใจเรื่องการใช้ 5W 1H กันมากนัก แต่ถ้าเปลี่ยนมาเป็นการเสิร์ชด้วยเสียง แน่นอนว่าคำเหล่านี้จะกลายเป็นเรื่องที่จำเป็นมากขึ้น เพื่อให้ระบบวิเคราะห์ได้ว่าคำตอบแบบใดที่ผู้ถามต้องการ รวมถึงรู้ได้ว่าผู้ถามนั้นอยู่ในสถานะที่กำลังจะตัดสินใจซื้อแล้วหรือยังด้วย
ยกตัวอย่างเช่น คำถามประเภทที่ว่า “ช่วยบอกความแตกต่างของคาร์ซีทแต่ละแบบหน่อยได้ไหม” นักการตลาดอาจเห็นแล้วว่านี่คือการถามเพื่อหาข้อมูล แต่ถ้าผู้ใช้งานถามว่า “คาร์ซีทยี่ห้อ x ราคาเท่าไร”, “จะซื้อคาร์ซีท x ได้ที่ไหน” นี่คือจุดที่เขากำลังจะซื้อ เป็นต้น
อาจเรียกได้ว่าเราอยู่ในยุคของ VUI (Voice User Interface) กันแล้วอย่างเป็นทางการ ซึ่งแม้ในภาพรวมถึงจะยังไม่มีตัวเลขการใช้งานที่ชัดเจนมากนัก แต่ในปีหน้า คาดว่าจะเริ่มเห็นความแตกต่างของผู้ที่ใช้ กับผู้ที่ไม่ได้ใช้มากขึ้น ซึ่งในจุดนี้ นอกจากนักการตลาดจะต้องเริ่มมองหาวิธีที่จะผสานแบรนด์ลงไปในอินเทอร์เฟสเสียงกันแล้ว การทำเว็บไซต์ให้มีข้อมูลพร้อมที่จะรองรับการเสิร์ชด้วยเสียงก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นกันค่ะ
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
TheDrum
CampaignLive