Site icon Thumbsup

คุยกับ VST ECS (Thailand) ในวันที่มือถือกลายมาเป็นสินค้าสำคัญ สวนทางกับตลาดชิปเซ็ตที่กำลังขาดแคลน

ปัญหาการขาดแคลนชิพเซ็ตยังคงเป็นสิ่งที่น่ากังวลอย่างต่อเนื่อง เหตุเพราะการเติบโตทางด้านเทคโนโลยีทำให้ความต้องการชิพเซ็ตมีสูงขึ้น สวนทางกับกำลังการผลิตที่มีอย่างจำกัด รวมทั้งความต้องการใช้งานไม่ได้จำกัดอยู่แค่กลุ่มสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์หรือดีไวซ์บางกลุ่มแบบเดิม แต่ขยายตัวไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ มากขึ้น เช่น IOT ยานยนต์ อสังหา เน็ตเวิร์ก หรือกลุ่มร้านอาหาร นั่นจึงเป็นเหตุให้ภาคธุรกิจต้องวางแผนจัดการชิ้นส่วนเหล่านี้ รวมทั้งเพิ่มกำลังในการผลิตให้ทันต่อความต้องการมากขึ้น

คุณสมศักดิ์ เพ็ชรทวีพรเดช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วีเอสที อีซีเอส (ประเทศไทย) จำกัด ได้เล่าเกี่ยวกับภาพรวมตลาดไอทีให้ฟังว่า การขาดแคลนชิพเซ็ตนั้น ไม่ได้เป็นเพราะกำลังการผลิตที่มีผลกระทบจากปัญหาของจีนและไต้หวัน แต่เป็นไปตามดีมานด์ของตลาด ซึ่งก่อนหน้านี้ความต้องการใช้ชิพเซ็ตในกลุ่มสินค้าสมาร์ทโฟนก็ได้ขาดแคลนอยู่แล้ว เพราะถูกนำไปใช้ในหลายอุปกรณ์ที่ต้องการความสมาร์ทอย่างกลุ่มสินค้าไอโอที ยานยนต์และอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ต้องการปรับตัวให้ทันสมัยสู่การเป็นดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน ทำให้ดีมานด์ในกลุ่มชิพเซ็ตสูงขึ้นประมาณ 25% และยังคาดว่าความต้องการชิพเซ็ตยังคงมีต่อเนื่อง

ภาพรวมธุรกิจ VST ECS (Thailand)

สำหรับภาพรวมธุรกิจในครึ่งปีแรกของ วีเอสที อีซีเอส โตขึ้นประมาณ 12% เมื่อเทียบกับปีที่แล้วก็ยังคงมีตัวเลขการเติบโตสองหลักเช่นกัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่มองว่ามีโอกาสโตมากกว่านี้ แต่เพราะการขาดแคลนชิพเซ็ตทำให้กลุ่มสินค้าประเภทเน็ตเวิร์กขาดตลาดอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็น F5, Arista, Cisco, Aruba เจอปัญหาขาดตลาดทั้งหมด ทำให้เจอผลกระทบในการรอสินค้านานหนึ่งปี

คุณสมศักดิ์ เพ็ชรทวีพรเดช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วีเอสที อีซีเอส (ประเทศไทย) จำกัด

“โชคดีที่บริษัทมีการสั่งสต็อกสินค้าไว้ทำให้ตัวเลขรายได้ยังมีการเติบโตไปต่อได้ ซึ่งถ้าสินค้าไม่ขาดตลาดคาดว่าจะทำรายได้ได้ดีกว่านี้ อาจจะพุ่งไปถึง 16-18% ไม่ใช่แค่ 12% แบบตอนนี้”

อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้บริษัทยังมีโอกาสไปต่อได้ เป็นเพราะมีความร่วมมือกับกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ที่ทำโปรเจ็คร่วมกันทั้งภาคธุรกิจรายเล็ก กลางใหญ่ ธนาคาร ภาครัฐทั้งระดับประเทศและท้องถิ่น เพราะเป็นกลุ่มที่มีความต้องการใช้งานไอทีอย่างต่อเนื่องและต้องการคุณภาพของเน็ตเวิร์กที่สูงขึ้น รวมถึงระบบสตอเรจคุณภาพต้องดี ระบบซอฟต์แวร์ต้องช่วยให้การทำงานง่ายขึ้น ลดการใช้กระดาษ รวมทั้งการทำซีเคียวริตี้ป้องกันภัยคุกคามจากแฮคเกอร์ที่มาโจมตี ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องกับซอฟต์แวร์ทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม แม้ตัวเลขในกลุ่มคอนซูเมอร์จะลดลงแต่บริษัทใกล้ชิดกับลูกค้ามากขึ้น ทำให้มองเห็นโอกาสการเติบโตแม้จะเป็นตัวเลขหลักเดียวก็ตาม เพราะกำลังซื้อในกลุ่มสินค้าไอทีลดลงจากปัญหาค่าครองชีพสูงขึ้น สภาพเศรษฐกิจยังไม่ดีพอ รวมถึงอัตราเงินเฟ้อด้วย

นอกจากนี้ กลุ่ม SMB ที่เป็นฐานสำคัญก็เจอผลกระทบเรื่องการเข้าหาเงินทุนยากขึ้น การสนับสนุนจากรัฐบาลลดลงทำให้ขยายธุรกิจยากขึ้นเมื่อเทียบกับองค์กรขนาดใหญ่ที่มีความแข็งแรงด้านการเงินมากกว่าจึงมุ่งหวังให้ภาครัฐเข้ามาช่วยในเรื่องแหล่งเงินกู้ให้แก่ธุรกิจขนาดกลางและย่อมกลุ่มนี้ เพื่อหนุนให้ภาพรวมธุรกิจทั้งประเทศไปต่อได้

ส่วนในกลุ่มภาครัฐยังมีการเติบโตที่ดีถือเป็นรายได้หลัก เพราะมีการลงทุนต่อเนื่อง แม้จะเป็นหน่วยงานท้องถิ่นแต่เม็ดเงินยังสะพัดดีอยู่ รวมทั้งมีโปรเจ็คต่างๆ เยอะมาก

ทางบริษัทจึงคาดหวังรายได้ครึ่งปีแรกอยู่ที่ 17,000 ล้านบาท รวมทั้งปีคาดว่าน่าจะทำได้ที่ 34,000 ล้านบาท หรือประมาณ 10-12% เมื่อเทียบกับปีที่แล้วปิดรายได้ทั้งปีอยู่ที่ 31,000 ล้านบาท

การลงทุนใหม่ๆ ของปีนี้

ทางด้านของบริษัทเองก็จะมีการปรับเปลี่ยนระบบภายในองค์กรให้มีความเป็นดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ก่อนเกิดโควิดแล้ว ไม่ว่าจะเป็น เรื่องของการทำ E-Document, การทำระบบฐานข้อมูลใหม่, การปรับเปลี่ยน infrastructure เพื่อรองรับการทำงานแบบ anywhere any place ให้มีการทำงานอย่างรวดเร็วและปลอดภัย โดยมุ่งไปที่การพัฒนาในส่วนของเน็ตเวิร์ก, ซีเคียวริตี้ หรือการรีพอร์ตต่างๆ หากจะนับเม็ดเงินลงทุนเพื่อพัฒนาระบบภายในของบริษัท มีการใช้เงินไปมากกว่า 30-50 ล้านบาทแล้ว