เอ่ยชื่อ Wacom หลายคนอาจรู้จักดี หลายคนอาจรู้จักปานกลาง และก็เชื่อว่ามีหลายคนเช่นกันที่ยังไม่คุ้นเคย แต่ใน พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นปีที่บริษัทในเซกเตอร์ต่าง ๆ พยายาม Drive ตัวเองเข้าสู่ยุคดิจิทัลนั้นน่าจะเป็นโอกาสสำคัญที่ Wacom ต้องกลับมาตอกย้ำฐานะของตนเองอีกครั้ง กับการเป็นผู้นำในตลาด “เครื่องเขียนดิจิทัล” ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการได้ในหลาย ๆ ธุรกิจ รวมถึงการใช้งานในอนาคตที่จะมีการนำเครื่องเขียนดิจิทัลเหล่านี้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในในด้านการทำธุรกรรมออนไลน์ผ่านลายเซ็นต์อิเล็กทรอนิกส์ไปจนถึงงานด้าน AR, VR, 3D, และอื่น ๆ อีกมากมาย
โดยผู้บริหารของ Wacom อย่างคุณไมค์ เกย์ ซึ่งเป็นรองประธานอาวุโสฝ่ายธุรกิจคอนซูเมอร์ของ Wacom ได้เคยกล่าวไว้ว่า “ความท้าทายของการใช้กระดาษคือความยุ่งยากในการแชร์กระดาษแผ่นนั้น” ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าเป็นแนวคิดที่น่าสนใจ เพราะในยุคที่มนุษย์เราแชร์กันกระทั่งรถ หรือบ้าน หากแค่ “ไอเดีย” บนแผ่นกระดาษนั้นแชร์ไม่ได้ ก็คงไม่ใช่ยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง และด้วยแนวคิดดังกล่าว ที่ยืนของ Wacom จึงต้องกว้างขวางมากขึ้น เพื่อให้คนในแวดวงอื่น ๆ ได้รู้จัก Wacom มากขึ้นตามไปด้วย
โดยที่ผ่านมาแท็บเล็ตพร้อมปากกาดิจิทัลจาก Wacom เป็นที่รู้จักกันดีในวงการศิลปิน นักออกแบบ งานกราฟิกดีไซน์ งานภาพยนตร์แอนิเมชัน รวมถึงในกลุ่มคนรุ่่นใหม่ที่ศึกษาด้านศิลปะ ส่วนในภาคธุรกิจ Wacom อยู่ในฐานะพาร์ทเนอร์ที่ดีในการโพรวายด์เทคโนโลยีเกี่ยวกับ “ปากกา” ซึ่งทำให้ Wacom เป็นพาร์ทเนอร์กับแบรนด์ดัง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น Microsoft, Lenovo, Huawei, Toshiba, Dell, Fujitsu, HP หรือที่กำลังฮอตสุด ๆ ในตอนนี้ก็คือ Samsung (เทคโนโลยีในปากกา S Pen ที่มีแรงกดหลายระดับของตระกูล Note คือเทคโนโลยีจาก Wacom)
แต่สำหรับอนาคตอันใกล้ Wacom เห็นสัญญาณของการนำปากกาดิจิทัลมาใช้งานมากขึ้นจากอุตสาหกรรมใหม่มาแรงได้แก่ VR, AR, 3D Printing, IoT และ AI ซึ่งจะทำให้ตลาดปากกากลายเป็นอีกหนึ่งการแข่งขันที่ดุเดือด รวมถึงสร้างโอกาสในการเติบโตให้กับ Wacom ได้อีกครั้ง
โดยหากย้อนไปดูผลประกอบการของ Wacom ในไตรมาสแรกของปีหรือก็คือเมื่อเดือนเมษายน – มิถุนายนที่ผ่านมาพบว่า มีการเติบโตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้าอย่างน่าสนใจ โดย Wacom มียอดขายสุทธิ 15.97 พันล้านเยน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 2,705 ล้านเยน หรือเท่ากับ 20.4% นอกจากนี้ Wacom ยังพบว่า ยอดขายของบริษัทจากกลุ่ม Emerging market นั้นเพิ่มขึ้นถึง 50% โดยเฉพาะในจีนและอินเดีย
นอกจากนั้น หากมองไปถึงกลุ่ม Business Solution ที่รองรับลายเซ็นต์อิเล็กทรอนิกส์ก็พบว่าโปรดักซ์จาก Wacom มีการใช้งานมากขึ้นในสถาบันการเงินของสหรัฐอเมริกา และบริษัทยังมีการเปิดตัว Wacom Innovation Hub ขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สำหรับให้บริษัทสามารถเข้าร่วมเป็น Design Partner ร่วมกับสตาร์ทอัปต่าง ๆ ที่สนใจโปรเจ็คด้าน 3D, AR, VR และ Human computer interaction อีกด้วย ซึ่งการเปิด Hub นี้ขึ้นมา Wacom คาดว่าจะช่วยในการทรานสฟอร์มธุรกิจจากเดิมที่เน้นแต่ฮาร์ดแวร์ไปสู่การเป็น Hardware, Software & Services company ได้เป็นอย่างดี และทั้งหมดนี้ก็น่าจะเป็นสัญญาณที่ดีให้กับ Wacom ได้พอสมควร
ความท้าทายของ Wacom ในตลาด Creative อาจมีเพียงอย่างเดียวนั่นคือการเพิ่มขึ้นของคู่แข่งที่มาจากบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ ซึ่งแนวทางการรับมือของ Wacom คือการเปิดตัวโปรดักซ์ใหม่ให้รองรับการใช้งานในกลุ่มครีเอทีฟได้มากขึ้นอย่างรุ่น Intuos Pro และ Intuos Pro Paper Edition หรือรุ่น Cintiq Pro ที่เป็นหน้าจอ 4K สำหรับรองรับงานด้านดีไซน์ของมืออาชีพ ในส่วนตลาดคอนซูเมอร์ Wacom ก็มีโปรดักซ์ในไลน์ Bamboo สำหรับไว้ทำงานกับอุปกรณ์ iOS อยู่หลายรุ่น รวมถึงการนำเสนอเทคโนโลยีปากกาอย่าง Pro Pen 2 ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น สามารถตอบสนองต่อแรงกดได้ 8,192 ระดับ ทำให้เส้นที่วาดขึ้นมีความเป็นธรรมชาติกว่ารุ่นก่อนหน้า เพราะต้องยอมรับว่าปัจจุบันผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้นในการสร้างผลงาน หรือการจดบันทึก โดยเป็นผลจากการพัฒนาของผู้เล่นรายอื่น ๆ ในตลาดที่มีโปรดักซ์เป็นแท็บเล็ตพร้อมปากกาเช่น iPad Pro และ Apple Pencil นั่นเอง
ส่วนในตลาดแอปพลิเคชัน Wacom ก็มีแอปพลิเคชันอย่าง Inkspace สำหรับไว้นำไฟล์จากแอปพลิเคชันอื่น ๆ เข้ามาแก้ไขและแชร์ต่อได้ (เช่น ไฟล์จาก Dropbox, Evernote, OneNote, Bamboo Paper) ซึ่งบน Inkspace เองจะมีหลายเวอร์ชัน แต่ละเวอร์ชันก็มีคุณสมบัติแตกต่างกันไป เช่นเวอร์ชัน Basic จะมาพร้อมพื้นที่บนคลาวด์ 5GB สำหรับไว้เก็บงาน หรือเวอร์ชัน Plus ก็จะมีคุณสมบัติเพิ่มขึ้นมา เช่น สามารถแปลงลายมือให้เป็น Rich Text ได้ เป็นต้น โดยรองรับทั้ง iOS และแอนดรอยด์