ต้องยอมรับว่ากระแสไทยแลนด์ 4.0 ที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมานั้น ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นได้จากงบการตลาดของกลุ่มสถาบันการเงินที่หันมาโปรโมตแนวคิด Cashless Society กันอย่างหนัก โดยเฉพาะทางฝั่งของธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ที่ถือได้ว่าเป็นหัวหอกอันดับต้น ๆ เพื่อเพิ่มทราฟฟิกในการใช้งาน QR Code Payment โดยธนาคารไทยพาณิชย์ตั้งเป้าไว้ด้วยว่าภายในสิ้นปี 2018 ธนาคารจะมียอดสมัคร QR Code เพิ่มอีก 500,000 บัญชี รวมเป็น 700,000 บัญชี
แต่ความสำเร็จในตลาดนัดจตุจักร ตลาดแพลตตินัม สยามสแควร์ รถแดงเชียงใหม่ ตลาดวโรรส ฯลฯ ที่เริ่มมีการใช้ QR Code นั้น ต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งสำเร็จเพราะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่พ่อค้าแม่ขายพร้อมจะปรับตัวรับการมาถึงของ QR Code Payment เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวได้
ตรงกันข้ามกับตลาดธรรมดาทั่วไปที่ไม่ได้เป็นเป้าหมายของนักเดินทาง ซึ่งจากการลงพื้นที่สำรวจ (เอง) ของทีมงานในย่านตลาดราชวัตร เราพบว่ามีจุดอ่อนที่แบรนด์และหน่วยงานภาครัฐยังต้องให้ความใส่ใจหากต้องการจะโปรโมตการใช้งาน QR Code Payment ให้รอบด้าน ดังนี้
1. ขาดสัญญาณอินเทอร์เน็ต
การขาดเครือข่ายไวไฟให้บริการอินเทอร์เน็ตในตลาดสดทำให้แม่ค้าบางรายปฏิเสธที่จะใช้งานเทคโนโลยีดังกล่าว หรือหากมีเครือข่ายแต่ต้องเสียเงินเพิ่ม แม่ค้าส่วนหนึ่งก็ยอมรับตรง ๆ ว่าไม่สะดวก รวมถึงไม่เห็นความจำเป็นของการเปิดใช้สัญญาณอินเทอร์เน็ต เพื่อรองรับการชำระเงินด้วย QR Code ด้วย
2. สมาร์ทโฟนของพ่อค้าแม่ขายไม่รองรับ
ในตลาดทั่วไป เราพบว่าแม่ค้าจำนวนไม่น้อยใช้งานสมาร์ทโฟนราคาระดับปานกลางถึงล่าง ซึ่งไม่มีเนื้อที่เก็บข้อมูลรองรับมากนัก หลายคนจึงไม่สะดวกที่จะสละเนื้อที่มาติดตั้งแอปพลิเคชันเพิ่มเติม นอกจากนั้นแล้ว การไม่ได้เข้าถึงเครือข่ายไวไฟ ทำให้พ่อค้าแม่ค้าบางคนไม่ได้อัปเดตระบบปฏิบัติการให้เป็นเวอร์ชันล่าสุด ซึ่งเรายังพบด้วยว่า การลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ธนาคารบางแห่งเพื่อโปรโมตการใช้งาน QR Code Payment หลายครั้งเป็นการสร้างปัญหาให้กับพ่อค้าแม่ขายด้วย เนื่องจากเจ้าหน้าที่ธนาคารไปทำการอัปเดตระบบปฏิบัติการให้โดยพลการ จนทำให้สมาร์ทโฟนของแม่ค้าบางคนใช้งานไม่ได้เลยก็มี (หมายเหตุ แม่ค้าใช้ iPhone 4)
3. คิดยังไม่ครบลูป
ข้อนี้มาจากการได้คุยกับแม่ค้าเขียงหมูท่านหนึ่งที่ยอมรับว่ายังไม่สนใจ Cashless Society เพราะในลูปการค้าขายนั้น ไม่ได้พบแต่ลูกค้า แต่จะต้องพบกับพ่อค้าที่นำเนื้อหมูมาส่งให้ทุกวันด้วย และพ่อค้าจะรับแต่เงินสดตามความเคยชิน ดังนั้นเธอจึงต้องมีเงินสดเตรียมไว้จ่าย ในจุดนี้แสดงให้เห็นว่า การจะเปลี่ยนความเคยชินของพ่อค้าแม่ขายในตลาดจึงอาจต้องมองไปถึงลูปทั้งหมดของคนที่พวกเขาต้องมีปฏิสัมพันธ์ด้วยนั่นเอง
4. ขาดความเข้าใจ
จากที่ได้เดินสอบถาม การบอกว่า Cashless Society ช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับพ่อค้าแม่ค้า จะได้ไม่ต้องพกเงินติดตัวไว้มาก ๆ จนเสี่ยงต่อการสูญหาย หรือถูกขโมยยังใช้ไม่ได้ผลกับหลายร้าน โดยแม่ค้าหลายคนยังไม่เข้าใจว่า QR Code คืออะไร และสำคัญอย่างไร ในจุดนี้อาจเป็นหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้องในการสร้างความเข้าใจให้มากขึ้น
สุดท้ายเป็นตัวทีมงานเองที่พบว่า การซื้อของด้วย QR Code นั้น ค่อนข้างลำบากกว่าการหยิบเงินสดในกระเป๋าขึ้นมาจ่าย โดยซื้อร้านแรกอาจไม่ลำบากอะไร แต่ถ้าซื้อร้านที่ 5 – 6 เราจะเริ่มถือของในมือมากขึ้น การหยิบเงินในกระเป๋าสตางค์ขึ้นมาจ่ายจึงกลายเป็นทางเลือกที่สบายกว่า ขณะที่การจ่ายเงินด้วย QR Code นั้น นอกจากมือข้างหนึ่งจะต้องใช้ถือของหนัก ๆ แล้ว เรายังต้องใช้มือที่เหลืออีกข้างเดียวมาสแกนลายนิ้วมือเข้าสู่หน้าจอหลัก เปิดแอปพลิเคชันขึ้นมา ใส่รหัสผ่าน เมื่อเข้าหน้าจอของแอปพลิเคชัน ก็ต้องกดปุ่มว่าเราต้องการจ่ายเงินด้วย QR Code ยื่นสมาร์ทโฟนไปสแกน QR Code รวมถึงต้องป้อนจำนวนเงินที่ต้องการจ่ายลงไปด้วย และกดยืนยัน กระบวนการจึงจะสมบูรณ์
สรุปผลการเดินสำรวจตลาดครั้งนี้ ทีมงานสามารถซื้อผักในตลาดสด โดยได้รับประสบการณ์จากการสแกน QR Code เต็มรูปแบบจากร้านค้าในตลาดสดเพียง 1 ร้านค่ะ ก็ขอนำมาฝากเป็นข้อมูลเล็ก ๆ น้อย ๆ สำหรับบริการ QR Code Payment จากผู้ใช้งานจริงนะคะ