เมื่อพูดถึงเทคโนโลยีประเภท wearable หลายๆ คนอาจจะเข้าใจว่ามีแต่นาฬิกา smartwatch แต่จริงๆ แล้วยังมี wearable ในอีกหลายๆ รูปแบบที่ทำให้การใช้ชีวิตของคนหลายๆ คนง่ายขึ้น หนึ่งในนั้นก็คือ “เครื่องฟอกไตเทียมแบบโมบายล์” ซึ่ง engadget รายงานว่าขณะนี้อยู่ในช่วงเตรียมขอการรับรองจาก FDA (Food and Drug Administration) เพราะถือเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์
ย้อนกลับไปในปี 2008 ทีมผู้คิดค้นอุปกรณ์ทางการแพทย์ชิ้นนี้มีความพยายามที่จะทำให้กระบวนการฟอกไตสำหรับผู้ป่วยทุกคนดีขึ้น สำหรับคนที่มีความคุ้นเคยกับโรคนี้อยู่บ้างจะทราบว่าเครื่องฟอกไตเทียมที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้จะมีขนาดใหญ่มาก เคลื่อนย้ายไม่ได้ และผู้ป่วยจะต้องนอนอยู่นิ่งๆ ตรงนั้นเป็นเวลา 2-4 ชั่วโมงสำหรับการฟอกไตแต่ละครั้ง สัปดาห์ละประมาณ 2 ครั้ง สำหรับคนที่มีฐานะ ก็อาจจะติดตั้งเครื่องฟอกไตเทียมไว้ที่บ้าน แต่สำหรับคนทั่วไป ก็จะต้องไปใช้เครื่องนี้ที่โรงพยาบาลตามเวลานัด ซึ่งแปลว่าผู้ป่วยทุกคนจะต้องเสียเวลาหลายชั่วโมงต่อสัปดาห์ไปกับสิ่งนี้ อย่างมากก็อาจจะเล่นมือถือหรือแท็บเล็ตสร้างแลนด์มาร์คในเกมเศรษฐีเพื่อฆ่าเวลา
เครื่องฟอกไตแบบ wearable ชิ้นนี้จะแก้ปัญหาเรื่องการใช้เวลาของผู้ป่วยโรคไต โดยจะมีน้ำหนักประมาณ 4.5 กิโลกรัม และใช้คาดไว้รอบเอวของผู้ป่วยขณะที่เครื่องกำลังทำงานได้ (รับชมคลิปวิดีโอแนะนำเทคโนโลยีนี้ที่ท้ายบทความค่ะ)
ทีมงานที่อยู่เบื้องหลังเทคโนโลยีนี้กล่าวว่าประโยชน์ที่แท้จริงของเครื่องฟอกไตเทียมโมบายล์คือการช่วยให้ผู้ป่วยสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ขณะที่กำลังใช้เครื่องฟอกไตเทียม พูดง่ายๆ คือใช้ชีวิตได้ตามปกติแม้จะมีโรคประจำตัวก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการไปทำงาน การเรียน ไปรับลูกๆ กลับจากโรงเรียน ไปจ่ายตลาด ฯลฯ
หลังจากทำการทดสอบขั้นตอนแรกในต่างประเทศแล้ว Dr.Victor และทีมนักวิจัยจาก UCLA กำลังเตรียมการทดลองใช้งานจริงในสหรัฐฯ ภายในปีนี้ ซึ่งจะเป็นการทดลองในทางธุรกิจด้วยเพื่อเตรียมเข้าสู่การบริการในเชิงพาณิชย์ ทันทีที่การทดสอบทุกอย่างลงตัวก็จะเข้าสู่กระบวนการขออนุญาตจาก FDA เป็นขั้นตอนสุดท้าย
เชื่อว่าหากเทคโนโลยีนี้ผ่านการรับรองทางการแพทย์แล้วก็จะเป็นประโยชน์กับผู้ป่วยโรคไตเป็นอย่างมาก เพราะจากสถิติแล้วทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคไตอยู่เป็นจำนวนมาก เฉพาะในประเทศไทย มีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังทั้งสิ้น 8 ล้านคนและมีแนวโน้มว่าจะมีผู้ป่วยโรคไตเพิ่มขึ้นปีละ 10,000 คน ตามข้อมูลจากสมาคมโรคไต
และด้วยธรรมชาติของเทคโนโลยีแล้ว จะต้องมีพัฒนาการไปในทางที่ดีขึ้น เช่น มีราคาถูกลง มีขนาดเล็กลง (ถึงจะใช้เวลานานมากแน่ๆ ก็เถอะ) เพื่อให้ผู้คนมีโอกาสเข้าถึงโซลูชั่นที่ตอบโจทย์กับชีวิตตัวเองมากขึ้น