Site icon Thumbsup

Wearable Devices แค่เทรนด์ฮิต หรือเป็นทางออกเพื่อสุขภาพที่ดีในระยะยาว?

Wearable Devices หรืออุปกรณ์ไฮเทคที่สวมใส่ได้ กำลังเป็นที่ฮอตฮิตมาแรง อุปกรณ์ดังกล่าวไม่เพียงแค่อำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตในโลกแห่งเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังใช้ประโยชน์ในวงการแพทย์ได้ ไม่ว่าจะเป็น Fitbit อุปกรณ์ตรวจจับอัตราการเต้นของหัวใจที่ใช้ไปกับกิจกรรมในชีวิตประจำวัน อุปกรณ์เหล่านี้ช่วยให้คุณหมอทำงานง่ายขึ้นโดยการบันทึกพฤติกรรมของคนไข้ หรือคนปกติที่ไม่ได้ป่วยเป็นอะไรก็สามารถใช้ได้เช่นเดียวกัน

แต่จะทำอย่างไรให้พวกเขาไม่ได้เห็นว่าอุปกรณ์เหล่านี้เป็นเพียงเครื่องประดับบนตัว แต่จะเป็น “ส่วนหนึ่ง” ในการช่วยเหลือให้พวกเขามีสุขภาพดี และส่งเสริมให้มีชีวิตยืนยาว

จากรายงานพบว่าหนึ่งในสามของคนที่ใช้อุปกรณ์เหล่านี้ ใช้มันเป็นระยะเวลาสั้นๆ เพียงแค่ 6 เดือนเท่านั้น ปัญหานี้มาจากอุปกรณ์เหล่านี้ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อให้ผู้ใช้รู้สึกถึงประโยชน์เมื่อใช้ระยะยาว พวกเขาคิดว่ามันไม่ได้ช่วยให้เปลี่ยนไปในแนวทางที่ดีขึ้น ในทางกลับกัน ถ้าอุปกรณ์นั้นสามารถทำให้เปลี่ยนพฤติกรรมและส่งเสริมไปในทางที่ดีขึ้น เขาก็จะใช้มันต่อไป

มีการศึกษาว่า Wearable Devices ในตลาดทุกวันนี้ขาดปัจจัยหลักอยู่ 3 ประการเพื่อเพิ่มจำนวนผู้ใช้ในระยะยาว

1. สร้างพฤติกรรม – ทำให้ผู้ใช้รู้สึกอยากมีส่วนร่วมโดยการให้คำแนะนำ แทนที่จะให้ข้อมูลเพียงตัวเลข ซึ่งจะช่วยสร้างพฤติกรรมที่ดีต่อไป

2. แรงกระตุ้นทางสังคม – นอกจากสามารถเชื่อมต่อข้อมูลแล้ว ยังควรแชร์กิจกรรมและพฤติกรรมของผู้ใช้ผ่านโซเชียลมีเดียด้วย เพื่อสร้างความรู้สึกภูมิใจและรู้สึกอยากแข่งขันกับผู้ใช้คนอื่นๆ

3. แรงบันดาลใจให้ไปถึงเป้าหมาย – อุปกรณ์ควรทำให้ผู้ใช้รู้สึกถึงการบรรลุเป้าหมายย่อย ในแต่ละวัน

จากรายงานของเนลสัน พบว่าอุปกรณ์จำพวกฟิตเนสแบนด์หรือตัวบันทึกกิจกรรม เป็นที่นิยมมากที่สุด โดยครึ่งหนึ่งของผู้บริโภค ต้องการซื้ออุปกรณ์เหล่านี้ในอนาคต ซึ่งจะสร้างรายได้ 17 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2014 และก้าวกระโดดไปเป็น 45 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2017

เห็นแบบนี้แล้วก็อยากมีเป็นเจ้าของไว้หนึ่งอัน แต่จะใช้ในระยะยาวหรือไม่นั้น ต้องขึ้นกับวินัยตัวเองและความน่าสนใจของอุปกรณ์นั้นเสียแล้ว ว่าจะเอาปัจจัยทั้งสามข้อดังกล่าวมาสร้างสรรค์กันอย่างไร

ที่มา: medicaleconomics