แทนที่โฟกัสเดิมอย่างทีวี Weather Channel รายการพยากรณ์อากาศชื่อดังของสหรัฐฯซึ่ง IBM ซื้อไปนั้นกำลังเบนเข็มไปหาโลกดิจิทัล โดยเฉพาะจักรวาล Facebook ที่เป็นพื้นที่สำคัญซึ่งวิดีโอของ Weather Channel ถูกเปิดชมเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งหมดนี้ทำให้ Weather Channel เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจมากสำหรับประเด็นการปรับตัวเพื่อให้สามารถเติบโตได้
สถิติล่าสุดพบว่าวิดีโอของ Weather Channel บน Facebook ถูกเปิดชมมากกว่า 204 ล้านครั้งในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา คิดเป็นสัดส่วนเพิ่มขึ้น 158% จากเดือนกุมภาพันธ์
รายงานจาก Digiday ระบุว่าความสำเร็จงดงามนี้เป็นผลจากการอำนวยความสะดวกให้ผู้ชมบน Facebook ด้วยการเพิ่มคำบรรยายบนวิดีโอหรือ text-on-videos
Neil Katz บรรณาธิการและรองประธานฝ่ายคอนเทนต์ทั่วโลกของบริษัท The Weather Company ในเครือ IBM เปิดเผยแผนในอนาคตของ Weather Channel บน Facebook ว่าจะไม่เน้นเพิ่มคอนเทนต์เกี่ยวกับอากาศหรือข่าวสั้น แต่จะลุยสร้างวิดีโอเจาะลึกเนื้อหาสไตล์อื่นที่เหมาะสมสำหรับแพลตฟอร์ม Facebook
ตัวอย่างเช่นวิดีโอเจาะลึกด้านวิทยาศาสตร์ (science vertical) ซึ่ง Weather Company เพิ่งเปิดตัวในชื่อ Rockets Are Cool เมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ฝีมือการควบคุมงานผลิตคอนเทนต์ของ Will Goodman อดีตบรรณาธิการไวรัลอาวุโสของ The Huffington Post ทำให้เพจนี้มีแฟนติดตามมากกว่า 125,000 คนบนยอดชมวิดีโอ 40 ล้านครั้ง เรียกว่าเป็นยอดติดตามที่สูงกว่าเพจใดๆบน Facebook ที่ Weather Channel เคยดำเนินการมา
ความสำเร็จนี้ทำให้ Weather Channel จะเน้นผลิต vertical ลักษณะนี้บน Facebook มากขึ้น โดยจะลุยเนื้อหากลุ่มท่องเที่ยว ธรรมชาติ และไลฟ์สไตล์
อย่างไรก็ตาม ยุทธศาสตร์ที่ Weather Company วางไว้สำหรับ Facebook และบนแอพพลิเคชันของผู้ใช้อุปกรณ์พกพานั้นแตกต่างกัน โดยบริษัทจะเน้นผลิตคอนเทนต์พยากรณ์อากาศและข่าวสั้นเพิ่มเพื่อเรียกยอดชมจากผู้ใช้ผ่านแอพให้มากขึ้นเช่นเดิม
ข้อมูลจาก Weather Channel ระบุว่ายอดชมวิดีโอรวมของรายการนั้นมีจำนวน 1.7 พันล้านครั้งตลอดปี 2015 เพิ่มขึ้น 42% จากปี 2014 ในจำนวนนี้ราว 70% เป็นการชมผ่านอุปกรณ์พกพา โดย 90% ของการชมบนอุปกรณ์โมบาย์นี้เกิดขึ้นภายในแอพของบริษัท
กรณีศึกษาของ Weather Channel สะท้อนว่าวิดีโอแนวดิ่งหรือ vertical บน Facebook กำลังมาแรงในสายตาของผู้ผลิตสื่อ ซึ่งแน่นอนว่าสังเวียนนี้จะมีเรื่องสนุกแต้มสีสันให้วงการตลาดดิจิทัลแน่นอน
ที่มา : Digiday