Adobe อออกมาเปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมการบริโภคดิจิทัลคอนเทนต์ในหลายๆ แพล็ตฟอร์ม จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 2,008 คน และความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีจะดึงความสนใจของผู้บริโภคได้อย่างไรบ้าง
เมื่อผู้คนเริ่มเข้ามามีปฏิสัมพันธ์ในโลกอินเทอร์เน็ตมากขึ้น คอนเทนต์ก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ทั้งในรูปแบบที่ผู้ใช้งานทั่วไปสร้างขึ้นมา (user-generated content) หรือแบบที่แบรนด์เป็นคนนำเสนอ และอุปกรณ์ที่ใช้ก็มีส่วนสำคัญในการเพิ่มยอด engagement ให้กับคอนเทนต์
Adobe เผยว่า 9 ใน 10 ของผู้บริโภค จะใช้งานหลายหน้าจอ หรือที่เรียกกันว่า multiscreen และ 40% ของจำนวนนั้น ยอมรับว่าการใช้งานหลายหน้าจอทำให้ไม่สามารถจดจ่ออยู่กับจอใดจอหนึ่งได้นาน โดยครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างที่ใช้งาน Multiscreen คือกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในวัย Millennials
ในแง่ของการเลือกรับคอนเทนต์ พวกเขาบอกว่าทุกวันนี้มีคอนเทนต์จำนวนมาก (Overload) ทำให้ต้องเลือกเสพมากขึ้น และนั่นคือสาเหตุที่ทำให้ตลาดคอนเทนต์อยู่สภาวะการแข่งขันสูงมาก
73% ของผู้บริโภคระบุว่า คอนเทนต์ที่ถูกเลือกจะเป็นคอนเทนต์ที่แสดงผลได้ดีในอุปกรณ์ที่ใช้อยู่ และโดยมากแล้วคอนเทนต์ที่ทำให้พวกเขาไม่สนใจ จะมีลักษณะร่วมกันดังนี้
- รูปภาพไม่โหลด
- ใช้เวลานานเกินไปในการเรียกดูคอนเทนต์
- คอนเทนต์มีขนาดยาวเกินไป
- เนื้อหาไม่ดึงดูด
ผู้บริโภค 46% จะเปลี่ยนอุปกรณ์ที่ใช้เมื่อเกิดอุปสรรคในการเรียกดูคอนเทนต์ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น แต่ที่สำคัญคือผู้บริโภคอีกราวๆ 39% เลือกที่จะยุติความสนใจที่มีต่อคอนเทนต์นั้นๆ ทันที
นอกจากนี้ การสร้างความรู้และเนื้อหาที่เชื่อถือได้ก็ยังคงเป็นสิ่งสำคัญ แต่ถึงมันจะสำคัญ ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะถูกแชร์เสมอไป เพราะยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่อพฤติกรรมการแชร์ด้วย
25% ของกลุ่มตัวอย่างระบุว่า จะแชร์ก็ต่อเมื่อรู้สึกว่ามันเอนเตอร์เทนมากพอ โดยที่ไม่สนใจว่ามันจริงแค่ไหน และกลุ่มคนวัย Millennials เชื่อว่าความสนุกหรือการเอนเตอร์เทนสำคัญกว่า ในขณะที่กลุ่ม Baby Boomers ให้ความสำคัญกับเนื้อหาที่สนุกสนานเพียงแค่ 10% เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อกลับมามองที่ภาพรวม กลุ่มตัวอย่าง 61% ระบุว่า พวกเขาจะตั้งคำถามเมื่อรู้สึกว่าเนื้อหาข่าวมีอคติ ในขณะที่ 60% จะสงสัยไว้ก่อนว่าภาพประกอบถูกปลอมแปลงหรือตัดต่อหรือไม่ และ 57% จะตั้งข้อสงสัยว่าความคิดเห็น หรือการรีวิวในแง่ลบ อาจถูกกำจัดออกไป ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างเกือบทุกคนจะเชื่อรูปภาพหรือวิดีโอที่มาจากเพื่อน หรือคนที่รู้จักเป็นการส่วนตัว
ใครที่สนใจอ่านรายงายการสำรวจฉบับเต็ม สามารถดาวน์โหลดได้ที่นี่ค่ะ
ที่มา : Adweek