‘เกมสต็อป (GameStop)’ คือปรากฎการณ์ที่ทำให้ตลาดหุ้นปั่นป่วนมากที่สุด ณ เวลานี้ หลังจากนักลงทุนรายย่อยจำนวนมากปั่นหุ้น GameStop จนทำให้เฮดจ์ฟันด์ (กองทุนขนาดใหญ่) เสียผลประโยชน์มหาศาล
หุ้น GameStop หรือGameStop Cor. บริษัทขายปลีกเกมส์ในสหรัฐอเมริกา จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก (New York Stock Exchange: NYSE) ซึ่งมีราคาหุ้นต่ำกว่า 20 ดอลลาร์ต่อหุ้น เมื่อสิ้นเดือนธันวาคม 2020 ขณะที่ปัจจุบันมีมูลค่ากว่า 325 ดอลลาร์ต่อหุ้น
แล้วอะไรเป็นสาเหตุให้บริษัทเกมส์เติบโตอย่างก้าวกระโดดได้ขนาดนี้? จุดเริ่มต้นต้องย้อนไปเมื่อต้นปี 2021 ที่ราคาหุ้นของ GameStop พุ่งขึ้น 40% ไปอยู่ที่ 35.5 ดอลลาร์ต่อหุ้น จากการปรับกลยุทธ์ไปขายสินค้าออนไลน์และมีรายได้เพิ่ม แต่จุดนี้ทำให้นักลงทุนสถาบันฯ ผู้จัดการกองทุน Hedge fund ต่าง ๆ เริ่มมองว่าราคาหุ้นของ Game Stop จะไม่สูงไปกว่านี้เนื่องจากไม่ได้มีปัจจัยสนับสนุนเพิ่มเติม จึงทำการ Short selling
Short Selling คือการยืมหุ้นมาขาย ณ ราคาปัจจุบันและซื้อคืนในราคาอนาคต กล่าวคือ ยิ่งหุ้นตกลงไปมากเท่าไหร่ก็ยิ่งกำไรมากเท่านั้น กลับกันหากหุ้นเพิ่มขึ้นก็จะขาดทุนจากส่วนต่างมากเท่านั้น
การรวมตัวของชาว Reddit
การ short selling ของนักลงทุนสถาบันในครั้งนี้ ทำให้นักลงทุนรายย่อยจับกลุ่มใน Reddit (เว็บบอร์ดออนไลน์คล้ายพันทิป) เพื่อสั่งสอนนักลงทุนหลายใหญ่ด้วยการรวมตัวกันปั่นราคาหุ้น GameStop ให้สูงขึ้นจนทำราคาสูงสุดที่ 347 ดอลลาร์ต่อหุ้น หรือเพิ่มมาราว 10 เท่า
ทั้งนี้ การที่นักลงทุนรายย่อยสามารถปั่นราคาหุ้นได้ไม่ได้หมายความว่ามีเงินมหาศาล แต่เป็นการใช้เครื่องมือทางการเงินอย่าง ฟิวเจอร์และออปชั่น (Stock option) ส่งผลให้ราคาหุ้นพุ่งสูงจากทั้งการซื้อและการขาย
Option คือการซื้อในราคานั้นๆ ในอนาคต โดยจะมีกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน กล่าวคือนักลงทุนรายย่อยเข้าไป option ซื้อหุ้น GameStop ในราคาที่สูงขึ้นในอนาคต ส่วนนักลงทุนสถาบันต้องซื้อหุ้นเพื่อป้องกันความเสี่ยง ทำให้ราคาหุ้นทะยานขึ้นเรื่อยๆ
ปรากฎการณ์นี้สะเทือนตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาอย่างมาก โดยมี GameStop มีมูลค่าซื้อขายหุ้นมากกว่าบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่างเทสล่าและแอปเปิล ทั้งที่มูลค่ากิจการน้อยกว่าหลายเท่า และมีรายงานว่านักลงทุนสถาบันขาดทุนจากการ Short Selling ไปประมาณ 5 พันล้านดอลลาร์หรือราว 150,000 ล้านบาท
สุดท้ายเราอาจมองได้ว่า ปรากฎการณ์ GameStop คือสงครามระหว่างนักลงทุนรายย่อย และ กองทุนขนาดใหญ่ ที่แม้ว่ากองทุนจะมีเครื่องมือ ความรู้ และเงินทุนที่มากกว่า เมื่อเผชิญกับนักลงทุนรายย่อยที่รวมตัวกันก็ส่งผลให้สูญเงินมหาศาลได้
ล่าสุด (1 ก.พ. 64) สงครามยังไม่ถึงบทสรุปว่าใครจะเป็นผู้ชนะ แต่ที่แน่ๆ คือ GameStop มีมูลค่ากิจการพุ่งจาก 35,000 ล้านบาทสู่ระดับ 680,000 ล้านบาทในเวลาเพียง 3 อาทิตย์เท่านั้น
ที่มา