คำเตือน: บทความนี้เป็นบทความแนวอุดมคติ หรือคติที่เราควรจะไปให้ถึง และจะชวนคุณผู้อ่านคิดว่า Content ที่คุณทำอยู่ทุกวันนี้คืออะไร คุณทำมันไปเพื่ออะไร และแท้จริงแล้วมันเป็น Content จริงๆ หรือเปล่า และถ้ามันไม่ใช่ Content สิ่งที่คุณทำจะยังมีค่าอยู่หรือไม่ เพราะเหตุใด? แลกเปลี่ยนกันได้นะครับ
หลับตาย้อนอดีตไปปี 1996 ตั้งแต่ Bill Gates เขียนบทความที่ชื่อว่า Content is King ออกมา ก็มีนักการตลาดด้าน Content หลายคนเอาไปอ้างอิงอยู่บ่อยๆ บ่อยจนผมคิดว่า “จริงเหรอ?” เพราะเอาเข้าจริงๆ ชีวิตคนทำ Content มันก็ไม่ได้เป็น “ราชา” อะไรอย่างที่ลุง Bill เขาว่าอย่างนั้นสักหน่อย
เผลอๆ คนทำ Content แทบจะตกเป็น “ทาส” ของการผลิต Content ด้วยซ้ำ (ไม่เชื่อ ลองนึกภาพ Blogger หรือเจ้าของเพจดังสักคนที่ต้องคอยผลิต Content ออกมาอยู่ทุกๆ วันอาทิตย์ละ 20 โพสต์สิ หรือนึกภาพขององค์กรแบบ Netflix หรือ iFlix ที่ต้องไปไล่ซื้อ Content หนังจำนวนมากๆ มารอ user สิ ทุกคนเหนื่อยหมดนะ ไม่มีใครสบายจริงๆ หรอก)
แต่ก่อนจะเวิ่นเว้อไปไกลกว่านี้ ผมขอพา thumbsupers มาย้อนอ่านนิยามของคำว่า Content กันสักนิดนะครับ
- ถ้าคุณเป็นนักข่าว Content ที่คุณทำก็คือข่าวสารที่จะทำให้คนอ่านของคุณได้รับรู้ข่าวสารข้อมูลที่มีประโยชน์ หรือได้รับความบันเทิง
- ถ้าคุณเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย Content ที่คุณทำก็คือหนังสือ บทความวิชาการ บล็อกที่ให้ความรู้
- ถ้าคุณเป็นคนทำงานในบริษัทแนวองค์กรธุรกิจ Content ของคุณก็มักจะเป็นงานโฆษณาประชาสัมพันธ์ ที่ส่งผลประโยชน์ต่อองค์กรของคุณ
- ถ้าคุณเป็นศิลปิน Content ของศิลปินก็คืองานศิลปะ ดนตรี ภาพยนตร์ วรรณกรรมที่คุณสร้างสรรค์ออกมาเพื่อความบันเทิง หรือส่งมอบคุณค่าทางศิลปะแก่ผู้คน
- ถ้าคุณทำงานอยู่ในภาครัฐ Content ของรัฐบาลก็คือการให้ข้อมูลข่าวสารเพื่อสื่อสารกับประชาชน สมัยนี้ก็เลยไปถึงขั้น Open data
แต่ทั้งหมดนี้นิยามร่วมของมันระบุไว้แล้วว่า Content แปลว่า เนื้อหาที่ทำให้พึงพอใจ อิ่มอกอิ่มใจ นั่นหมายความว่า ไม่ว่าคุณจะเป็นนักข่าว อาจารย์มหาวิทยาลัย พนักงานบริษัท ศิลปิน ข้าราชการ คุณล้วนแล้วแต่มีหน้าที่ทำให้ผู้ชมของคุณพึงพอใจ อิ่มอกอิ่มใจในแบบที่เขาอยากจะฟัง อยากจะเสพจากคุณ
ด้วยเหตุและผลที่เล่ามาทั้งหมด จึงพอจะสรุปแบบกำปั้นทุบดินได้ว่า ถ้าคุณบอกว่าคุณเป็นคนทำ Content หน้าที่ของคุณคือการสร้างประโยชน์ให้ผู้ชมพึงพอใจ
- ถ้าคุณเป็นนักข่าว ข่าวสารของคุณควรเป็นข่าวสารที่ทำให้คนพึงใจ ไม่ใช่ข่าวสารที่บิดเบือนหรือเต็มไปด้วยความคิดที่ทำร้ายคน นักข่าวคนนั้นควรมีความตั้งใจดีที่จะทำให้ประชาชนคนอ่านได้ประโยชน์ มากกว่าทำให้ได้ยอดผู้อ่านมากๆ เพื่อให้ขายโฆษณาให้ได้มากๆ
- ถ้าคุณเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย หนังสือ บทความวิชาการ บล็อก ของคุณก็ควรทำหน้าที่ให้ความรู้ สร้างสรรค์ทฤษฎีที่โน้มนำให้คนนำแนวความคิดไปปฎิบัติและสร้างสรรค์สังคมได้ มากกว่าอยากจะเขียนเพื่อความก้าวหน้าทางอาชีพอย่างเดียว
- ถ้าคุณเป็นคนทำงานในบริษัทแนวองค์กรธุรกิจ งานโฆษณาประชาสัมพันธ์ ก็ต้องเป็นแบบที่คนอ่านอยากอ่าน ไม่ใช่สักแต่ว่าขายของแบบไม่ดูบริบทและความต้องการของคน (จะบอกว่าเป็น Pull approach มากกว่า Push approach ก็ได้)
- ถ้าคุณเป็นศิลปิน งานศิลปะ ดนตรี ภาพยนตร์ วรรณกรรมที่คุณสร้างสรรค์ออกมา ก็ต้องพยายามสร้างแง่งามในใจคน
- ถ้าคุณทำ Content ของภาครัฐ ก็คือการให้ข้อมูลข่าวสารเพื่อสื่อสารกับประชาชน เพื่อรับใช้ประชาชน โดยที่ทำออกมาใน format และ platform ที่เหมาะสมกับการเสพของคนในยุคปัจจุบัน
พอมาดูคำนิยามเหล่านี้แล้ว มันก็ชวนคิดนะครับว่า พวกเราในฐานะคนทำงานเกี่ยวข้องกับ Content มีกี่ครั้งที่เราพยายามคิดว่าเราจะทำ Content เพื่อให้มันทำให้คนอ่าน คนดูพึงพอใจ? มีกี่ครั้งที่เราตั้งใจจะทำให้คนอิ่มอกอิ่มใจ? มีกี่ครั้งที่เราตั้งใจทำ Content ออกมาเพื่อผู้ชม มากกว่าจะทำให้คนที่มีผลประโยชน์กับเราโดยตรง
ผมเพียงแต่จะบอกว่า ในฐานะคนทำ Content การเห็นอกเห็นใจคนอ่าน คนดู ผู้ชม หรือ audience ให้มากพอ เป็นหัวใจของการทำ Content แต่ถ้าเราไม่ให้ค่ากับเรื่องความเห็นอกเห็นใจนี้แล้ว เราก็จะเป็นเพียงคนทำงานไร้หัวใจ คาดหวังผลประโยชน์เกินไปจนมันสะท้อนออกมาในงานของพวกเรา ซึ่งคนอ่านเขาสัมผัสได้ครับ
#เขียนไว้เตือนใจตัวเอง