ผมเคยได้ยินพี่ที่ผมเคารพท่านหนึ่งกล่าวว่า “ยุคนี้กูรูบนโลกออนไลน์เยอะมาก มีทั้งคนที่เก่ง เป็นตัวจริง กับคนที่ไม่ใช่ตัวจริง ที่เราต้องระมัดระวัง” ผมเห็นด้วยกับพี่ท่านนั้นว่ามีเยอะจริงๆ นั่นแหละ แต่เรื่องหนึ่งที่ผมพยายามเก็บมาคิด และตั้งคำถามกับตัวเองอยู่บ่อยๆ ก็คือ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าไอ้คำว่า “ตัวจริง” น่ะมันวัดกันอย่างไร? นอกจากความชอบไม่ชอบส่วนตัวแล้วมันมีมาตรวัดอะไรอีกหรือเปล่า แล้วถึงเวลาเราจะคัดเลือกคนเหล่านั้นอย่างไร
หลังจากคิดมานานสองนาน ผมก็ได้คำตอบกับตัวเองแบบพื้นๆ เพื่อเอาไปทำงานต่อได้ มาดังนี้ครับ แต่อย่างไรก็ขอออกตัวนะครับว่า นี่มันความเห็นผมล้วนๆ เลย ไม่ได้อิงสำนักอะไรทั้งนั้น
1. ตัวจริงต้องเคยมีผลงานที่จับต้องได้
การที่เราจะบอกว่าใครสักคนเป็นตัวจริงในเรื่องอะไร คนๆ นั้นก็ควรจะมีผลงานที่ได้รับการยอมรับก่อน ซึ่งการที่ใครสักคนจะมีผลงานที่ชัดเจนอย่างนั้นออกมาได้ แน่นอนว่าเขาก็จะต้องเป็นคนเก่ง และ คนเก่งก็คือ คนที่มีโอกาสได้ทำในสิ่งที่ตัวเองถนัด แล้วงานที่เขาทำนั้นมันได้สร้างประโยชน์ให้กับคนในแวดวงนั้นๆ ก่อน ซึ่งถ้าคนๆ นั้นมีผู้ติดตามมาก มันก็เยี่ยมเลยครับ เพราะคมความคิดของเขาจะได้ขจรขจายไปไกล แต่ถ้าหากเขามีจำนวนผู้ติดตามมากแต่ไม่เคยมีผลงานอะไร เขาอาจจะยังไม่ถึงขั้นตัวจริง แต่วันหนึ่งพอมีผลงานมากขึ้นก็จะกลายเป็นตัวจริงขึ้นมาได้
เช่น คิดว่าหลายๆ คนคงเคยได้ยินชื่อคอลัมนิสต์ “หนุ่มเมืองจันท์” เพราะคุณหนุ่มเมืองจันท์มีผลงานบทความ หนังสือมากมาย โดยเฉพาะ “ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ” ที่คนในแวดวงธุรกิจให้การยอมรับ หนังสือออกมาทีไรก็ได้รับความนิยมทางด้านยอดขาย แถมคุณหนุ่มเมืองจันท์แกยังทำออกมาอย่างต่อเนื่องด้วยครับ
2. ตัวจริงต้องมีความสามารถในการโน้มน้าว Public Opinion (ทำอย่างไรให้คนที่เป็น ‘คนวงใน’ ในเรื่องของวงการนั้นๆ ให้การยอมรับ)
คนที่เคยมีผลงานบางคนอาจจะเก่งแบบคมในฝัก แต่มันคงน่าเสียดายถ้าหากคนที่คมในฝักคนนั้นไม่สามารถนำประสบการณ์ของตัวเองมาโน้มน้าวให้คนอื่นให้เชื่อ คิด และลงมือปฎิบัติตามได้ ดังนั้นคำว่าตัวจริงในที่นี้จึงควรเป็นที่สามารถโน้มน้าวคนได้ประมาณหนึ่งใน อาจจะไม่ต้องโน้มน้าวได้ซะทุกเรื่อง (ไม่มีใครเก่งไปซะหมดหรอก) ขอเพียงแต่รู้ว่าคนๆ นั้นมีฐานกลุ่มผู้ติดตามที่แท้จริง
วิธีการดูว่าคนๆ นั้นมีฐานผู้ติดตามที่แท้จริงหรือเปล่า ก็ดูแค่ว่าเวลาคนๆ นั้นแสดงความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง คนที่เป็นคนวงในของอุตสาหกรรมนั้นๆ ต่างพากันไปร่วมแสดงความคิดเห็นด้วยทันที หรือมีคนบอกต่อเรื่องราวความคิดเห็นของคนๆ นั้นอีกต่อหนึ่ง
เช่น ผมเคยดูคลิปที่คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์เคยพูดไว้ในงานของมติชนซึ่งท่านให้แง่คิดที่น่าสนใจหลายอย่าง จนคลิปนั้นมีคนให้ความสนใจและคนนำไปบอกต่อมากกว่า 400,000 ครั้ง รวมถึงคนวงในทางด้านการเมืองก็บอกต่อหลายต่อหลายคน
3. ดูที่การ “ยืนระยะ”
คนเราไม่มีใครเก่งได้ทุกอย่าง เราต้องมีเรื่องที่เราถนัดแค่บางเรื่อง ดังนั้นคนเราต้องดูกันยาวๆ คนไหนที่นำเสนอมาต่อเนื่องอยู่ได้ยาว และยังคงรักษาฐานผู้ชมให้เข้ามาเชียร์ได้อย่างต่อเนื่อง หรือ “ยืนระยะ” เก่งนั่นแหละ คนนั้นคือคนที่เราพอจะตัดสินได้ว่าคนๆ นั้นคือตัวจริง
เมื่อถึงเวลาที่จะต้องบอกและแนะนำคนอื่นว่าใครคือตัวจริง… (ในความเห็นของคุณ)
คำว่า “ตัวจริง” จะว่าไปมันก็เหมือนเรากินข้าวนั่นแหละ อาหารบางชนิดเราว่าอร่อย คนอื่นอาจจะบอกว่าไม่อร่อยก็ได้ เราบอกว่าเราชอบสเต๊ก แต่รสที่ถูกปากเราต้องเป็นเนื้อที่เคยขุนด้วยเบียร์เท่านั้น แต่รสที่ถูกปากเพื่อนเรา ต้องเป็นเนื้อที่มีกรรมวิธีแบบดรายเอจจิ้งเท่านั้น จะเห็นได้ว่ามันเป็นเรื่องที่เฉพาะตัวมากๆ แต่เมื่อถึงเวลาที่เราจะต้องบอกคนอื่น หรือให้คำแนะนำว่าใครคือตัวจริง เราอาจจะต้องลงรายละเอียดอีกสักนิด เช่น
- เราคิดว่าคุณ A เป็นตัวจริงเพราะมีผลงาน A, B, C, D ที่จับต้องได้ออกมาอย่างต่อเนื่อง
- เราคิดว่าคุณ A เป็นตัวจริงเพราะนอกจากแกจะเก่งแล้ว แกยังมีความสามารถในการโน้มน้าว และทำให้แฟนๆ พูดและปฎิบัติตามที่แกให้ความเห็นด้วย
- เราคิดว่าคุณ A นอกจากผลงาน และความสามารถแล้วแกยังทำผลงานออกมาสม่ำเสมอ โปรเจ็กต์ไหนที่แกคุมก็ออกมาดีทุกที เราเลยคิดว่าคนๆ นี้คือตัวจริง
ถ้าเพื่อนๆ thumbsupers ท่านไหนมีความเห็นว่าจะอธิบายคนอื่นได้อย่างไรว่า คนที่คุณชื่นชอบเป็น “ตัวจริง” แล้วแตกต่างไป ช่วยบอกด้วยนะครับ ผมจะเอามาเติมในบทความพร้อมให้เครดิต 🙂
ความคิดเห็นจากผู้อ่านเพิ่มเติม:
- May Limpetcharakul – ผมคิดว่ายังมีตัวจริงบางคนที่ทำตัว low profile และเป็นตัวจริงที่มีลักษณะเป็นป๋าดัน ในที่นี้คือ ไม่ได้มีผลงานเป็นของตัวเองแต่จะเป็นผู้ผลักดันอยู่เบื้องหลัง (คล้ายๆกับผู้มีอิทธิพลทางการเมือง ไม่ออกหน้า แต่ทำงานอยู่เบื้องหลัง) คนพวกนี้ส่วนใหญ่เคยอยู่เบื้องหน้ามาก่อน ต่อมาคงจะเริ่มเบื่อหรือจะด้วยปัจจัยอะไรบางอย่างที่ทำให้ต้องไปอยู่เบื่องหลังแทน
- Pocky Suchantabutr – จะตัวจริง ตัวปลอมหรือตัวสำรองก็ไม่สำคัญ มันสำคัญที่ว่าเมื่อได้รับโอกาสสามารถแสดงฝีมือ หรือมีบทบาทและส่วนร่วมกับทีมทำให้ทีมไปสู่ชัยชนะหรือไม่ ตัวจริงฟอร์มไม่ดีก็หล่นเป็นตัวสำรองได้ ตัวสำรองได้รับโอกาสแล้วทำได้ดีก็มีโอกาสเป็นตัวจริงได้เช่นกัน ทุกสิ่งขึ้นอยู่กับคุณว่าคุณมีความพากเพียรเรียนรู้ ฝึกซ้อม และพัฒนาตนเองมากแค่ไหน ใครจะเป็นตัวจริง ตัวอะไรก็เรื่องของเขา ขอให้ตัวเราอย่าหยุดพัฒนา