มีการประมาณการณ์คร่าว ๆ ว่า แบรนด์ที่ถอดโฆษณาออกจาก แพลตฟอร์มของ Google/YouTube จากปัญหาการแสดงผลโฆษณาในคอนเทนต์ที่ไม่เหมาะสมนั้น น่าจะมีมากกว่า 250 แบรนด์แล้ว (ล่าสุดคือ Verizon และ AT&T) ซึ่งสื่ออย่าง Business Insider ได้มีการลงไปพูดคุยกับระดับ Head ของแบรนด์เหล่านั้นประมาณ 10 กว่าราย และพบว่า จริง ๆ แล้วนี่อาจเป็นโอกาสที่นักโฆษณาจะใช้ต่อรองกับ Google เสียมากกว่า
ทั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัญหาเรื่อง Brand Safety นั้นจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเว็บไซต์หรือผู้สร้างคอนเทนต์เริ่มคิดเรื่องที่จะทำเงินจากเว็บไซต์หรือคอนเทนต์ของตัวเองผ่านการโฆษณา ซึ่งเมื่อมีโฆษณา โอกาสที่จะระบบ Programmatic จะทำงานผิดพลาดก็สามารถเกิดขึ้นได้
เหมือนเช่นก่อนหน้านี้ ที่ Google เองก็เคยมีเคสระดับตำนานมาแล้ว กับโฆษณาของแบรนด์ประกันภัยเจ้าหนึ่งที่ใช้ภาพเป็ดเป็นตัวเอก ทว่าโฆษณาชิ้นนี้กลับไปปรากฏในคอนเทนต์เรื่อง “Anatidaephobia” หรือคอนเทนต์เกี่ยวกับโรคกลัวเป็ดนั่นเอง
เหล่านี้เป็นหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่า การวางโฆษณาผิดที่ผิดทางนั้นเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือทำไมในครั้งนี้ ถึงกลายเป็นเหตุให้แบรนด์ต่าง ๆ ออกมาถอดโฆษณารายวัน ทั้ง ๆ ที่บางเคสก่อนหน้านี้น่าจะผิดพลาดมากกว่าด้วย
เป็นไปได้หรือไม่ว่าปัญหาของ Google ในครั้งนี้เป็นเพราะ Google/YouTube กลายเป็นสื่อที่มีอิทธิพลระดับโลก ใคร ๆ ก็อยากให้โฆษณาของตนนั้นได้เผยแพร่บนแพลตฟอร์มดังกล่าว ยิ่งถ้าสามารถแพร่กระจายไปได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย และเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ใหญ่มาก ๆ ด้วยแล้วก็ยิ่งดี แถมเมื่อถึงตอนจ่ายเงิน กลับสามารถจ่ายได้ในราคาที่ถูกกว่าสื่อโฆษณาแบบดั้งเดิมเสียอีก
ส่วน YouTube เองก็นำระบบ Programmatic เข้ามาใช้งานเพราะเป็นระบบอัตโนมัติที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของนักโฆษณาได้ ซึ่งเท่ากับว่าเงินจากนักโฆษณาไหลเข้ากระเป๋าของ YouTube ได้ไวขึ้น หรืออาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า เป็นการจับมือกันทำธุรกิจโดยอาศัยความโลภเป็นสำคัญ หรือก็คือน่าจะมีส่วนผิดด้วยกันทั้งคู่
ดังนั้น การแก้ปัญหาวิกฤติวงการโฆษณาครั้งนี้ ทั้งฝ่ายแพลตฟอร์มดิจิทัลอย่าง Google/YouTube กับบ.โฆษณาอาจต้องร่วมมือกันแทนที่จะมาคาดหวังให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก้มหัวขอโทษเพียงอย่างเดียว เช่น บ.โฆษณาอาจต้องกำหนดลิสต์ของสื่อน้ำดีที่พวกเขาต้องการให้โฆษณาไปปรากฏ กับกลุ่ม Blacklists ที่ไม่ว่าอย่างไรก็ห้ามไปฉายในจุดนั้นอย่างเด็ดขาด ซึ่งแน่นอนว่าต้องใช้ทรัพยากรในด้านต่าง ๆ ทั้งคน เงิน และเทคโนโลยีเข้ามาช่วยอย่างมากเลยทีเดียว (ปัจจุบัน YouTube มีคนอัปโหลดคอนเทนต์ความยาวระดับ 300 ชั่วโมงขึ้นมาทุก ๆ 5 นาที)
และสิ่งหนึ่งที่มั่นใจได้ก็คือการแบนไม่ลงโฆษณากับ Google คงไม่ได้เกิดขึ้นตลอดไป เพราะทุกวันนี้ คนจำนวนมหาศาลก็ยังคลิกเข้าแพลตฟอร์มของ YouTube อย่างต่อเนื่อง นาทีนี้จึงน่าจะเป็นการรอดูว่า Google จะสามารถสร้างความชัดเจนในการฉายโฆษณาเหล่านั้นอย่างไรจึงจะสามารถดึงความเชื่อมั่นในหมู่นักโฆษณากลับมาได้เสียมากกว่า
ที่มา: BusinessInsider