ภาพประกอบดีๆ จากคุณ nyoin
หลังจากที่ผมแปลบทความเรื่อง ทำไมจีนจึงไม่สามารถสร้างนวัตกรรมได้ใน 20 ปีจากนี้ไป? (อ่านแล้วอย่าลืมมองย้อนดูไทย) ก็ได้เสียงตอบรับค่อนข้างดี (มีคนกด thumbsup 40 ครั้ง, แชร์บน Twitter เกือบ 100 ครั้ง และบน Facebook เกือบ 400 likes) แต่ก่อนจะดีใจลอยเตลิดไปไกล ขอกลับมาที่เรื่องของเราก่อน ถ้าใครจำได้ก่อนจบบทความคราวที่แล้วผมได้ทิ้งท้ายไว้ว่า ใครทิ้งความเห็นเอาไว้ ผมจะนำความคิดเห็นของคุณกลับมาสรุปต่อในตอนที่ 2 บทความนี้จึงเหมือนกับการ “ร่วมเขียนบทความ” ตามสัญญานั่นเอง หวังว่ามันจะเป็นบทความตอนที่ 2 ที่มีประโยชน์ไม่มากก็น้อยครับ
ในบทความคราวที่แล้วชี้ให้เห็นว่าเพราะอะไรจีนถึงสร้างสังคมที่แวดล้อมไปด้วยนวัตกรรมไม่ได้ในเวลาอันสั้น ก็ด้วย 3 เหตุผลหลักๆ นี้ครับ
1. ระบบ “Gao Kao” ที่มุ่งให้คนเรียนเก่งๆ ได้งานดีๆ เน้นให้คน “ได้งานทำ” ในบริษัทใหญ่ๆ แต่ไม่เน้นให้คนสร้างสิ่งใหม่ ด้วยการเน้นให้คน “สร้างงาน”
2. ผลิตภัณฑ์ของจีนยังไม่มีบุคลิกและเรียกปลุกอารมณ์จากผู้ใช้ได้ มีผลิตภัณฑ์ลอกเลียนแบบมากเกินไป
3. ระบบปลาใหญ่กินปลาเล็ก ที่ทำให้บริษัทเล็กๆ โดนบริษัทใหญ่เลียนแบบนวัตกรรมจนรายเล็กๆ ท้อถอย
ซึ่ง thumbsuper แทบทุกคนพร้อมใจกันลงความเห็นเชิงเปรียบเทียบกับเมืองไทย และนี่คือความเห็นของคุณ ที่ผมคิดว่าน่าสนใจและนำมาถกกันต่อในประเด็นที่ว่าแล้วเมืองไทยเรียนรู้อะไร?
เราเรียนรู้ว่า ไทยขาดระบบ VC รวมถึงความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนการสนับสนุนในเรื่อง Startup แต่การท้อ และหยุดอยู่กับที่ไม่ช่วยอะไร เพราะทุกอย่างอยู่ในช่วงแรก ดังนั้นสิ่งที่เราควรทำก่อนคือการ “กล้าที่จะเริ่มต้น” ระบบต่างๆ ยังไม่มา เราก็ต้องดิ้นรนเองบ้าง
ความเห็นแรกๆ ท้ายบทความ มีคุณ M Taweechai? บอกว่าบ้านขาดระบบ VC เรื่องนี้มันจริงอย่างที่สุดเลยล่ะครับ ในบ้านเราเท่าที่ผมเห็นมีอยู่บ้างก็มีบริษัท ข้าวกล้า ของทางกสิกร แต่มันก็ดูจะออกไปทาง SME มากกว่า ไม่ค่อยเป็นแนว Tech Startup ดังนั้นผมเลยคิดคล้ายๆ คุณ Phatthaworn Tao Phongphaew ว่า thumbsuper น่าจะออกไปข้างนอกก่อน ลุยในระดับภูมิภาคเลยดีกว่า ข้างนอกมีนายทุนเพียบ ถ้ากล้าแกร่งแล้วจะกลับมาระดับไทยๆ ก็ยังไม่สาย เดี๋ยวนี้โลกมันแบนครับเราไม่จำเป็นต้องอยู่กับตลาดไทยตลาดเดียว ปัญหาของเราตอนนี้คือเราไม่กล้าที่จะออกจาก “Comfort Zone” แบบไทยๆ มากกว่า ตอนนี้ต้องลุยกันหน่อยนะครับ ถ้าเปิดอาเซียนมาแล้วพวกเราจะลำบาก
เราเรียนรู้ว่า เปลี่ยนชุดอุดมการณ์กันดีกว่า จง “สร้างงาน” มากกว่า “หางาน”
ผมมองคล้ายๆ กับคุณ Vattana Lapanich ที่บอกว่า อุดมการณ์และแนวคิดของไทย ส่วนใหญ่ถูกปลูกฝังให้เรียน เรียน แล้วก็เรียน เพื่อที่จะได้งานการดีๆ ทำ แต่จะเกิดอะไรขึ้นถ้าหากเราพยายาม “เปลี่ยนชุดอุดมการณ์” เสียใหม่ จากการ “หางาน” มาเป็นการ “สร้างงาน” เราต้องเชื่อให้ได้ก่อนว่า การสร้างงานดีกว่าการหางาน ถ้าเปลี่ยนชุดอุดมการณ์นี้ได้ละก็อนาคตประเทศไทยแจ่มใสแน่
ซึ่งขณะเดียวกันมันก็ไปพ้องกับความเห็นของคุณ WitchayaTowongpaichayont กับคุณ Titipong Hanumart? ที่บอกว่าวัฒนธรรม Gao Kao ของจีนเหมือนบะหมี่สำเร็จรูปและค่อนข้างเหมือนกับค่านิยมของไทย ส่วนตัวผมมองว่าจีนเขาผ่านอะไรมาคล้ายๆ กับเรา คือผ่านความยากลำบาก มีปัญหาความยากจนค่อนข้างมาก การพยายามดิ้นรนเอาตัวรอด ด้วยการเรียนเพื่อให้ได้งานดีๆ ทำ มีความปลอดภัยในชีวิตสูง จึงไม่ใช่เรื่องผิดอะไร ในสังคมไทยก็เป็นแบบนั้น แต่ถ้าเราต้องการที่จะสร้างให้ประเทศเราก้าวหน้าด้วยแนวคิดการทำ Tech Startup แล้ว เราจำเป็นจะต้องเปลี่ยนชุดอุดมการณ์กันให้ได้
พูดดูเหมือนง่าย? อุดมการณ์นะครับ ไม่ใช่กินกล้วยจะได้เปลี่ยนกันได้ง่ายๆ แต่ถ้าหากไม่เริ่ม ก็คงไม่มี “วันนั้น” เราทุกคนรู้ว่า การเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงไม่ใช่เรื่องที่ง่าย แต่ถ้าเราไม่เปลี่ยน เราก็จะแข่งขันได้ลำบากในตลาดโลก
เราเรียนรู้ว่า ตอนนี้คนไทยสนใจเรื่อง startup กันมากขึ้นแล้วนะ มีงาน meetup มากขึ้นทั้งระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาค
จากความเห็นของคุณ imapisit คนไทยที่ทำงานในอเมริกาเข้ามาต่อว่า thumbsup นิดหน่อย (แต่ยังไงก็ขอบคุณนะครับ!) ได้ให้ความเห็นที่น่าสนใจว่า ตอนนี้ในเมืองไทยเองก็มีกลุ่มคนที่มองคล้ายๆ thumbsup อย่าง Blognone, Boxboxme คือพยายามผลักดัน และสร้างโครงการ หรือจัดงาน meetup ต่างๆ เยอะขึ้นในไทย เรื่องของเรื่องตอนนี้มันคือเรื่องความเชื่อมั่นของนักลงทุนซึ่งมีน้อยมากที่สนใจลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางด้าน Internet อาจจะด้วยเพราะคงไม่มีตัวอย่างที่ได้ผลตอบรับดีมากๆ ให้เห็นเท่าไหร่นัก และอาจจะด้วยไม่มี passion ร่วมกับเจ้าของผลิตภัณฑ์นั้น? ก็เลยไม่ค่อยมีใครอยากลงทุนหรือเสี่ยงในบริษัทเกิดใหม่เหล่านี้เท่าไหร่
แต่อย่างน้อยทุกอย่างก็กำลังเติบโตขึ้น และการที่เราจะมาร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงไปด้วยกันด้วยการบินไปร่วมงาน Echelon 2012 มันก็น่าตื่นเต้น และน่าลิ้มลอง หรือคุณคิดว่าไม่จริง?