Site icon Thumbsup

ทำไมนักการตลาดต้องสนใจ Apple Pay

ตอนนี้คงไม่มีใครไม่เคยได้ยินชื่อ iPhone 6 และ Apple Pay แล้วล่ะ ผู้เชี่ยวชาญหลายๆ คนคาดว่าการที่ Apple นำเอาเทคโนโลยี NFC มาใช้ในระบบ Payment จะเป็นการพลิกโฉมอุตสาหกรรมแน่ๆ วันนี้เราจึงมีบทความวิเคราะห์โอกาสที่นักการตลาดจะได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้มาให้อ่านกันค่ะ  

สามปีก่อนหน้านี้ Apple เคยปฏิเสธการนำเอา NFC มาใช้กับ iPhone ด้วยหลายๆ สาเหตุ แล้วก็ปล่อยให้คู่แข่งใช้ NFC ล่วงหน้าไปก่อน แต่ก็อย่างที่เห็นว่าพัฒนาการของ NFC นั้นแทบจะไม่ขยับไปไหนเลย ถึงแม้จะเห็นแนวโน้มว่า Mobile Payment น่าจะโตได้มากกว่านี้ ดูได้จาก Starbucks ที่มียอดขาย 10% มาจากโมบายล์แอปพลิเคชั่น ตามการรายงานของ Wall Street Journal เมื่อปี 2013 แม้จะยังไม่มีเทคโนโลยีมารองรับมากนัก

สังเกตได้จากบางองค์กรที่มีชื่อเสียงหลายๆ แห่งพยายามจะผลักดันให้เทคโนโลยีนี้ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย หรือแม้แต่ยักษ์ใหญ่อย่าง Google เองก็เคยเป็นพาร์ทเนอร์กับ MasterCard, Citibank และ VeriFone ในปี 2011 แต่ก็ไม่ได้ผลอย่างที่คาดหวังไว้

ถ้าเป็นแบบนั้น ทำไมเราจึงคาดหวังว่า Apple จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรม Mobile Payment ได้ล่ะ?

พูดกันตามจริงแล้ว จากที่ผ่านมาเราจะเห็นว่า Apple คือหนึ่งในบริษัทที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ ได้ ในกรณีของ Apple Pay เราก็จะเห็นว่ามีร้านค้าปลีกจำนวนมากที่เป็นพาร์ทเนอร์กับ Apple ไปแล้วตั้งแต่ยังไม่ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการ

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เชื่อได้ว่า Apple Pay คืออนาคตของ Mobile Payment ก็คือ 3 ผู้นำในวงการ Payment อย่าง MasterCard, Visa และ American Express เซ็นสัญญากับ Apple เป็นที่เรียบร้อยแล้ว รวมทั้ง UnionPay จากจีนก็เช่นกัน

ทำไมต้องเป็น Apple Pay และทำไมต้องเป็นตอนนี้?

ย้อนกลับไปในปี 2000 ตอนที่ Steve Jobs ทำให้วิธีการฟังเพลงของเราเปลี่ยนไป Apple Pay ก็น่าจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในระบบการชำระเงินได้เช่นกัน

พูดถึงโซลูชั่นในการชำระเงินก็มีตั้งแต่ประเภทที่พัฒนาใช้เองภายใน เช่น ระบบ MCX ของ Walmart มาจนถึง Square จนถึง Google Wallet ไม่มีระบบไหนเลยที่จะพูดได้อย่างเต็มปากว่ามันเป็นโซลูชั่นในระดับสากลอย่างแท้จริง ลองนึกภาพเครดิตการ์ดในเวอร์ชั่นดิจิทัลที่สามารถใช้ได้ในร้านค้าปลีกทุกร้าน นั่นแหละที่เราไม่สามารถจะเรียกมันว่าเป็นสากลได้

แต่สำหรับ Apple มันคือการแชร์ฐานข้อมูลผู้ใช้งานร่วมกับ iTunes ที่มีอยู่ประมาณ 800 ล้านคน ตามคำชี้แจงของ Tim Cook ซึ่งผู้ใช้งานเหล่านี้มีการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตทั้ง 3 เจ้าที่ได้กล่าวไปแล้ว ถือว่าเป็นส่วนผสมที่ลงตัวและดีพอที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

นอกจากนี้ Apple Pay ไม่ใช่การใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชั่น ข้อนี้สำคัญมากเพราะการที่จะทำให้คนดาวน์โหลดแอปมาใช้งานก็ต้องใช้ความพยายามประมาณหนึ่ง และถ้าอยากจะทำให้คนเปิดแอปขึ้นมาใช้ทุกวันก็ยิ่งต้องพยายามมากขึ้นไปอีก

อะไรบ้างที่นักการตลาดต้องสนใจ?

นี่คือ 5 เรื่องที่นักการตลาดควรจะให้สนใจเกี่ยวกับ iPhone 6, iOS และ Apple Pay

1. เข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น

จริงๆ แล้วต้องพูดว่าเข้าถึงกระเป๋าสตางค์ของลูกค้าได้ง่ายขึ้นด้วย ลองนึกดูว่าเมื่อคุณพยายามทำให้ลูกค้าดาวน์โหลดแอปมาใช้งานและกระตุ้นให้พวกเขาเปิดขึ้นมาใช้บ่อยๆ ได้สำเร็จ นั่นก็แปลว่าคุณมีโอกาสที่จะสื่อสารกับพวกเขาได้มากขึ้น แต่ในกรณีของ Apple Pay คุณไม่ต้องการแอปพลิเคชั่นเลยด้วยซ้ำ แต่อย่างไรก็ตาม คุณสามารถฝัง Apple Pay ลงไปในแอปพลิเคชั่นได้ด้วย หน้าที่ของคุณคือบอกเหตุผลดีๆ ที่ลูกค้าควรจะดาวน์โหลดแอปของคุณมาใช้ และด้วยความง่ายดายที่ Apple Pay มอบให้ คุณจะมีโอกาสมากขึ้น

2. ไร้รอยต่อระหว่างออฟไลน์กับออนไลน์

Apple Pay จะเป็นนำเอาประสบการณ์ใช้จ่ายทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์มารวมกัน คือใช้ได้ทั้ง NFC และ pay now เมื่อซื้อในระบบออนไลน์

3. การเพิ่มลูกเล่นเพื่อกระตุ้นการใช้งาน Mobile Payment

นักการตลาดอาจจะทำให้มันเป็นมากกว่าระบบการชำระเงินได้ด้วยการเพิ่มเอาโปรโมชั่นต่างๆ ใส่เข้าไปเพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้งาน หรืออาจจะมีการสะสม Point ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วมันน่าจะเป็นความสนุกอย่างหนึ่งของผู้ใช้งาน

4. ความปลอดภัย

จริงอยู่ที่ว่านักการตลาดไม่ใช่คนที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง แต่ในยุคนี้คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการตัดสินใจของลูกค้า

5. ข้อมูลผู้ใช้งาน

เทคโนโลยีและแอปพลิเคชั่นใหม่ๆ จะพ่วงมาด้วยความสามารถในการเก็บข้อมูล ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของลูกค้านี่แหละที่นักการตลาดควรให้ความใส่ใจ

อ่านมาทั้งหมด เหมือนจะมีแต่เรื่องดี ข้อเสียของมันก็น่าจะมีเหมือนกันแต่ยังเร็วเกินไปที่จะพูดถึงข้อเสียของมันในตอนนี้เพราะยังไม่ได้ทดลองใช้งานจริง ซึ่งประเด็นที่น่ากังวลก็มีเรื่องความปลอดภัยและ Apple Pay อาจจะเข้ากันไม่ได้กับทุกระบบการชำระเงินในช่วงแรก

ที่มา : marketingland