ถ้าใครติดตามข่าว Skype เข้าซื้อ GroupMe บริษัท startup ที่ทำ Group Messaging เมื่อวานนี้ คงพอจะรู้จักทั้งคู่ดีอยู่แล้ว อาจจะสงสัยว่าด้วยตัวผลิตภัณฑ์ของทั้งคู่นั้น มีความคล้ายคลึงกันอย่างมาก แล้วเหตุไฉน Skype ที่ตอนนี้อยู่ภายใต้หลังคาของ Microsoft จึงต้องซื้อ startup น้องใหม่ที่มีอายุประมาณแค่ปีเดียว ด้วยมูลค่าสูงถึงหลายสิบล้านเหรียญด้วยล่ะ เหตุผลติดตามอ่านต่อได้เลยครับ…
สำหรับ Skype นั้น คงไม่มีใครที่จะไม่รู้จักพวกเขา กับการเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการ VoIP ที่ปัจจุบันโดนทาง Microsoft ซื้อกิจการไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม Skype ก็ยังมีการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ไม่แตกต่างจากตอนที่ยังไม่ได้ควบรวมกับ Microsoft
ในขณะที่ GroupMe นั้น ก็เป็นบริษัทเกิดใหม่ ซึ่งหลักๆ นั้นพวกเขาให้บริการ Group Messaging ที่ให้คุยแชทกันในห้องสนทนา แถมยังสามารถส่งไฟล์ต่างๆ หากันได้ด้วย แน่นอนว่าสามารถใช้งานได้ทั้งบนคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล และสมาร์ทโฟนแทบจะครบทุกแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็น iOS Android OS BlackBerry หรือ Windows Phone 7 นอกจากนี้ก็ยังสามารถที่จะใช้งานผ่านข้อความ SMS ได้อีกด้วย
ความสงสัยบังเกิดขึ้น เมื่อใครที่ใช้ Skype กันอยู่แล้วต่างก็รู้ว่า Skype เองก็สามารถทำ Video Conference แบบหลายคนพร้อมๆ กันได้อยู่แล้ว ไฉนเลย Skype จึงต้องเสียเงินราว 85 ล้านเหรียญ (ราว 2,550 ล้านบาท) เพื่อรวม GroupMe เข้ามาไว้ด้วยกันด้วย
มันเป็นเรื่อง Interaction ไม่ใช่เพียง communication
สาเหตุที่ Skype ต้องลงเงินมากถึง 85 ล้านเหรียญ อย่างแรก ก็คือ Skype เป็นเพียงช่องทางในการ Communication (สื่อสารแบบธรรมดา) ไม่ใช่ Interaction หรือโต้ตอบได้ฉับไวมากนัก สิ่งที่ Skype ทำได้ตอนนี้มีหลากหลายอย่าง เช่น โทรศัพท์หา Land line ส่งข้อความหากัน ส่ง SMS แต่กระนั้นมันก็ยังไม่ดีพอในเรื่องของการโต้ตอบไปมาแบบที่ GroupMe ทำ หัวใจสำคัญก็คือผลิตภัณฑ์ของ GroupMe ทำให้คนสื่อสาร “พร้อมๆ กัน” ในเวลาเดียวกันได้ดี มีความเป็นส่วนตัว รวมถึงแชร์พิกัดที่ตัวเองอยู่ แชร์รูป แชร์วิดีโอ หรือพูดง่ายๆ ก็คือให้คน “โต้ตอบ” และแชร์ทุกช่วงชีวิตกันได้ในแบบทันทีทันใดนั่นเอง
โลกทุกวันนี้เชื่อมโยงสื่อสารเป็นเนื้อเดียวกันมากขึ้น บริษัทที่เป็นเจ้าของเครือข่ายและอุปกรณ์สื่อสารแทบทุกเจ้าจำเป็นจะต้องมีบริการที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ไม่เช่นนั้นแม้ตัวเองจะมีฐานผู้ใช้มากเพียงไรก็จะไม่สามารถรั้งให้ผู้บริโภคอยู่กับตัวเองต่อไปได้
ประเด็นการ “รั้งให้ผู้บริโภคอยู่กับเรา” หรือ customer engagement นั่นแหละที่สำคัญที่สุด
แม้ว่า Skype จะมีระบบ instant messaging และ voice และ video call สำหรับผู้ใช้เป็นร้อยล้านคนแล้วก็ตาม แต่ถ้ามีบริการของ GroupMe เข้ามา Skype ก็จะทำอะไรๆ ได้เพิ่มเติมอีกมาก และแน่นอนว่าเป็นการป้องกันการเติบโตของคู่แข่งที่มีอยู่รอบๆ ตัวด้วย
ถ้า GroupMe เจ๋งจริง ทำไมต้องขาย?
บริการแบบ GroupMe ไม่ได้มีอยู่เจ้าเดียวในตลาด ตอนนี้หลายร้อยล้านคนใช้ Facebook และมีระบบคล้ายๆ กับ GroupMe แต่ที่พวกเขาต้องขายกิจการ อาจะเป็นเพราะความกดดันจากการแข่งขัน อาทิ การเปิดตัวของ Facebook Messenger เมื่อไม่นานมานี้ รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่คล้ายๆ กับตัวเองของเจ้าใหญ่ อย่าง Google+ Huddle หรือแม้กระทั่ง iMessage ของ Apple ที่อยู่บน iOS 5 การที่ GroupMe จะอยู่รอดได้ต้องอาศัยทุนมหาศาล การร่วมมือกับ Skype ภายใต้ Microsoft จึงเป็นทางเลือกที่ดี
Skype จะได้อะไร?
Skype สามารถใช้ GroupMe และ app ตัวอื่นๆ ที่มีในการสร้างแพลตฟอร์มการสื่อสารผนวกรวมกับ Windows Phone 7 ซึ่งฟังดูไม่เลวในแง่ของกลยุทธ์ และผู้ใช้ก็จะใช้เทคโนโลยีของ Microsoft ต่อไปในชีวิตประจำวันได้ ถึงแม้ว่า ณ ตอนนี้ Microsoft จะเป็นพันธมิตรกับ Facebook แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าอนาคตจะเป็นคู่แข่งกันไม่ได้ ยิ่งในวันนี้ที่โลกเรากำลังจะเป็นโลกที่มีการสื่อสารแบบโต้ตอบฉับไวในหลายๆ แพลตฟอร์มอย่างนี้ ใครเป็นเจ้าของเทคโนโลยีนั้นก็จะทำให้ตัวเองครองความเป็นหนึ่ง
Skype มีจำนวนผู้ใช้สูงมาก แต่การรักษาให้ตัวเองมีฐานผู้ใช้ต่อไปไม่ใช่เรื่องง่าย คุณคงจำได้ที่ว่าเมื่อก่อน AOL และ Myspace ก็เคยเป็นเจ้าแห่งเว็บท่า และเจ้าแห่ง Social Network มาก่อน แต่ท้ายสุด Yahoo!, Google, Facebook ต่างชนะพวกเขาไปได้ในเวลาไม่กี่อึดใจ การซื้อกิจการ GroupMe คือการทำให้ผลิตภัณฑ์ของ Skype ยังคง “เกี่ยวข้อง” กับไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้อยู่ต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว Skype อาจต้องระบุตัวเองให้ชัดว่าจะเป็นเพื่อนกับผู้บริโภค หรือจะเป็นบริษัทที่เน้นจับลูกค้ากลุ่มองค์กร การซื้อขายกิจการครั้งนี้จึงถือว่าเป็นอีกก้าวหนึ่งของโลกที่จะมีแพลตฟอร์มการสื่อสารที่หลากหลายมากขึ้น และ Skype ก็คงมีเป้าหมายที่จะเป็นแพลตฟอร์มนั้นให้จงได้นั่นเอง
ที่มา: GigaOm