กำลังเป็นกระแสร้อนแรงทีเดียวสำหรับ Agile ที่หลายองค์กรกำลังพยายามที่จะลงมือปรับเปลี่ยนองค์กรให้ทันยุค Digital Disruption แต่แน่นอนว่า การเปลี่ยนแปลงที่ฉับพลันนี้ ต่างก็เป็นได้แค่หนึ่งใน “วิสัยทัศน์” ของกลุ่มผู้บริหาร แต่ในกลุ่มคนทำงานหรือคนที่ได้รับมอบหมายงานให้เปลี่ยนแปลงการทำงานภายในองค์กรนั้น ไม่ได้รู้สึกสนุกเลย มาลองฟังแนวคิดของ KBTG บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของไทย เกี่ยวกับเรื่องนี้กันค่ะ
สำหรับงานสัมมนา Beyond Agile by KBTG นั้น เกิดขึ้นได้จากความพยายามของ เรืองโรจน์ พูนผล ประธาน กสิกร-บิซิเนส เทคโนโลยี กรุ๊ป หรือพี่กระทิงของเหล่าสตาร์ทอัพ ที่ต้องการตอกย้ำความสำคัญในการนำ Agile มาใช้ในองค์กร เพราะหากองค์กรใดสามารถทำได้ พวกเขาจะกลายเป็นองค์กรแห่งนวัตกรรมที่จะเป็นผู้ชนะอย่างยั่งยืน ในยุค Digital Disruption นี้เลยทีเดียว
นอกจากนี้ การดึงวิทยากรคนเก่งอย่าง Arie van Bennekum, Co-author of Agile Manifesto and Global Thought Leader หนึ่งในผู้คิดค้น Agile แกนคิดสำคัญในการพาองค์กรปรับตัวไปสู่ยุคใหม่ ในหัวข้อ “Agile and the Future”
Erik Dörnenburg, Head of Technology จาก ThoughtWorks บริษัทผู้ผลักดันการใช้ Agile จนแพร่หลายไปในองค์กรต่าง ๆ ทั่วโลก ในหัวข้อ “Future Software Development with DevOps” และ Ken Collins, Director, Information Management & Analytics จาก Microsoft ผู้นำด้านการวิเคราะห์และการจัดการข้อมูล ที่มาเติมเต็มความรู้ ในหัวข้อ “Data Science in an Agile Business” มาให้ความรู้กัน ซึ่งสิ่งที่ทางทีม Thumbsup สรุปจากการเข้าไปฟังนั้น มีดังนี้
Agile คือการทำงานแห่งอนาคต
- เรื่องการทำ Agile นั้น ไม่ใช่จะเปลี่ยนแปลงกันได้โดยง่าย เพราะโปรเจคนี้ทำให้พี่กระทิงตัดสินใจไปบวชเลย!! (อันนี้เป็นมุกบนเวทีนะคะ)
- การทำ Agile ก็เหมือนกับการสร้างโปรดักส์ของ Startup ที่ต้องมีระยะเวลา validation (กระบวนการทดสอบ) ว่าโปรดักส์นั้น จะเจ๋งพอที่จะขึ้น scale ได้ไหม ภายในระยะเวลาที่กำหนด แล้วอะไรคือตัว scaling หากลองทำแล้วไม่เวิร์คก็ต้องตัดสินใจทิ้งโปรเจคนั้นไป
- สิ่งที่แพงสุดของการทำ startup ยุคนี้ไม่ใช่เรื่องของเทคโนโลยีอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นต้นทุนทางการตลาดหรือ marketing cost เพราะ startup เริ่มจากศูนย์และจะต้องสร้างความเชื่อใจให้แก่ลูกค้า เช่นเดียวกับการทำงานในองค์กรก็ต้องสร้างความเชื่อมั่นในการทำงานให้แก่ทีมของเราก่อน
- ผู้นำหรือ Leader ต้องเชื่อมั่นในแผนที่วางไว้ ยิ่งนานยิ่งต้องคงความเชื่อมั่นและวิสัยทัศน์นั้นไว้ เพื่อให้ทีมไม่สูญเสียความเชื่อและเป้าหมายที่วางไว้ร่วมกันในอนาคต
- การทำงานเป็นทีมที่ดี ควรเอาคนที่มีสิทธิ์ตัดสินใจไว้ใกล้กับคนทำงาน เพราะเขาจะช่วยให้งานเดินหน้าได้เร็วขึ้น หากคนนำทีมไม่กล้าตัดสินใจ ก็ต้องหาคนที่กล้าตัดสินใจมาอยู่ด้วยกัน
- การดูแลทีมที่ดีต้องแฟร์ เช่นเดียวกับ ผู้นำหรือหัวหน้าทีมที่ดี ต้องกล้ายอมรับใน Goal และเชื่อมั่นในลูกทีมของตนเอง พร้อมที่จะเจ็บและรับผิดชอบร่วมกัน นั่นคือสิ่งสำคัญที่ช่วยสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้
- Leader ควรจะจัดหาเครื่องมือทำงานให้ได้ เพราะนอกจากความเป็นทีมแล้ว เครื่องมือที่ดีก็สำคัญเช่นกัน
- การเริ่มต้นมักเจ็บปวด หากลงมือทำ Agile แล้ว พนักงานในองค์กรยิ้ม แสดงว่านั่นไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง เพราะการจะเริ่มต้นเปลี่ยนสิ่งที่คุ้นเคยแบบเดิม ให้สำเร็จได้นั้น คนในองค์กรต้องกังวลและรู้สึกเจ็บปวด นั่นถึงจะเรียกว่าการทำงานในองค์กรกำลังมีการเปลี่ยนแปลงที่ดี
- สิ่งสำคัญในระบบ Agile คือ Resilience คือต้องล้มและลุกได้ หากงานหรือสิ่งที่กำลังรับผิดชอบอยู่ไม่ใช่สิ่งที่ต้องการก็อย่าเสียเวลา ตั้งเป้าหมายในชีวิตให้ชัดเจน
- ปัญหาเป็นสิ่งที่ทำให้เราเกิด Passion ซึ่งการเกิด Passion ที่รุนแรงนั้น จะสำคัญกว่า Skill ดังนั้นองค์กรจึงต้อง Balance สิ่งเหล่านี้เข้ากับ Believe ให้เหมาะสม
- การทำงานในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนั้น ทำให้มนุษย์ทำงานควรที่จะ total well-rounded หรือเรียนรู้ให้รอบด้าน และเรียนรู้แบบ T-shaped skills เพราะการเรียนรู้ได้ทั้งเชิงลึกและกว้างจะทำให้เรามีมุมมองที่หลากหลายและปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม
- การสร้างระบบ Automate ให้สำเร็จอย่างรวดเร็วจะช่วยลดความเสี่ยงและเน้นการเรียนรู้ได้เร็วขึ้น ผู้บริหารควรมองทักษะของพนักงานให้ออก และจัดการงานให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล
“Agile ควรเป็น Big Vision ขององค์กรที่ต้องเปลี่ยนการทำงานภายในให้เกิดผลงานจริงๆ ไม่ใช่แค่ตามกระแส Fashion ที่อยากทำเพราะเห็นเทรนด์และคนอื่นๆ เค้าพูดกัน แต่ไม่มีความเข้าใจหรือลงมือทำอย่างแท้จริง”
- DevOps เป็นอีกส่วนหนึ่งของ Agile ซึ่งเราอยู่ในยุคที่ต้องเจอสึนามิอีกหลายลูก อยู่ในยุคที่ทุกคนต้องปรับตัว ดังนั้นการทรานฟอร์มจึงต้องทำไปเรื่อยๆ ให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเป็นเพื่อนของคุณ ต้องกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง
- พนักงานคือคนสำคัญที่จะช่วยให้องค์กรเปลี่ยนแปลง เป็น Journey สำคัญที่จะช่วยให้องค์กรเปลี่ยนได้จริง และพนักงานจะเป็นคนลุกขึ้นมาพูดเองว่าพวกเขาเป็นคนในยุค Digital Transformation อย่างแท้จริง
- จังหวะในการปรับตัวขององค์กรนั้น นอกจากดู time to market แล้ว ต้องดูความพร้อมของตลาดด้วย เช่น พนักงานทำงานด้วยระบบดิจิทัลได้มากน้อยแค่ไหน ใช้เครื่องมืออย่างสมาร์ทโฟนและแอพพลิเคชั่นได้คล่องไหม สื่อสารผ่านเทคโนโลยีได้จริงหรือเปล่า เพราะการทำงานบางอย่างหากปรับเปลี่ยนเร็วเกินไปก็อาจจะเกิดการต่อต้านได้
Apollo ที่จะเปลี่ยนโลกของทีม KBTG
หลายคนอาจเห็นผ่านสื่อต่างๆ ไปบ้างแล้ว สำหรับแอพพลิเคชั่นและฟีเจอร์ใหม่จาก Apollo Project จากทีม KBTG ที่เป็นการเปิดแพลตฟอร์มให้พนักงานของ KBTG เข้ามาใช้ API และสร้าง Prototype เพื่อเป็นผลิตภัณฑ์จริงๆ ภายใต้กฏเกณฑ์การกำกับดูแล ทั้งการทำ Sandbox ภายในองค์กร สร้างโปรดักส์จริงเพื่อลดเวลา Time to Market ด้วยการให้คนในองค์กรลองใช้งานจริงเพื่อทดสอบและแก้ไขปัญหาก่อนปล่อยให้คนทั่วไปได้ใช้งานกันและนี่คือ 3 แอพที่จะเปิดให้ใช้งานเร็วๆ นี้
KhunThong (ขุนทอง) เป็นระบบทวงเงินที่ใครได้เห็นรีวิวก็อยากใช้งานแล้ว เพราะไม่ต้องติดตั้งแอพใหม่ให้วุ่นวาย เพียงแค่คุณ Invite ขุนทองเข้าไปในกรุ๊ปที่คุณต้องการทวงเงิน จากนั้นใส่ชื่อเพื่อนในกลุ่มที่คุณต้องการทวงเงิน ระบบจะบริหารจัดการทวงเงิน คิดยอดเงินและแจ้งเตือนให้ทราบได้ทันที กรณีเดียวที่ขุนทองจะไม่ทราบ คือ คุณจ่ายเงินสดต่อหน้าด้วยกันเอง ดังนั้น หากจ่ายเงินสดให้กันก็ต้องบอกขุนทองด้วย ไม่อย่างนั้นเพื่อนหรือลูกหนี้คุณก็ต้องโดนทวงทุกวันแน่นอน
หรือถ้าคุณไม่อยากกรอกข้อมูลซ้ำซาก ลองโหลด Data Wallet เข้าไปในเครื่อง คุณอยากจะเก็บข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลสุขภาพ หรือข้อมูลทางการเงินไว้ในเครื่องก็สามารถทำได้ และเมื่อต้องการเชื่อมต่อกับบริการเพื่อรับสิทธิประโยชน์ใด ก็สามารถ Export ข้อมูลได้เลย สะดวกสบายไม่ต้องกรอกใหม่ทุกครั้ง
หากคุณเป็นคนที่ชอบจ่ายเงินด้วย Wallet บนสมาร์ทโฟน แต่ไม่อยากกดรหัสให้วุ่นวายต้องลอง Facepay ระบบที่ติดตั้งเทคโนโลยี Face Recognition เอาไว้ ซึ่งมั่นใจว่าแม่นยำถึง 99% เลยทีเดียว เพียงแสกนใบหน้าสดที่แท้จริงคุณจะจ่ายเงินได้ทันที แต่หากมีใครหัวใสเอารูปคุณไปแสดงเพื่อจ่ายเงินแทนแล้วละก็ รับรองได้ว่าระบบจะไม่ปล่อยผ่านให้จ่ายเงินได้ เพราะต้องใช้ใบหน้าสดของจริงของเจ้าของบัญชีเท่านั้น
ส่วนองค์กรใดจะเดินหน้า Agile ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในองค์กรแล้วละก็ งานนี้บอกได้เลยว่าพนักงานต้องสนุกกับการเปลี่ยนแปลงก่อนนะคะ ถึงจะเกิดผล