เราอาจเคยได้ยินว่าแพลตฟอร์ม Social Media มีการแบนคนดังออกไปจากแพลตฟอร์มของตนเอง หากพบว่าเขาหรือเธอละเมิดนโยบายของแพลตฟอร์ม แต่นี่อาจเป็นไม่กี่ครั้งที่มีการประเมินว่า หากคนดังอย่างประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” เลิกเล่น Twitter มูลค่าของบริษัทจะหายไปสักเท่าไร
โดยผู้ที่ออกมาประเมินนี้เป็นนักวิเคราะห์ชื่อ James Cakmak จากบริษัท Monness Crespi Hardt & Co. ที่ระบุว่า มูลค่าของ Twitter อาจจะหายไปมากถึงสองพันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 66,440 ล้านบาทเลยทีเดียว ถ้าหากบน Twitter ไม่มีแอคเคาน์ที่ชื่อว่า @realDonaldTrump อีกต่อไป
ซึ่ง Twitter เองก็รู้ดีเกี่ยวกับข้อได้เปรียบนี้ว่าการมีคนดังระดับโลกระดับประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาใช้งานอยู่บนแพลตฟอร์มย่อมทำให้ Twitter ได้รับความสนใจจากสื่อทั่วโลก ถือเป็นการประชาสัมพันธ์ฟรี ๆ ที่แพลตฟอร์มอื่นไม่มีข้อได้เปรียบนี้ ดังนั้น แม้จะมีเสียงเรียกร้องจากสื่อหลายแขนงให้ Twitter แบนแอคเคาน์ของประธานาธิบดีคนดัง ก็ดูเหมือนว่าเสียงเหล่านั้นจะส่งไปไม่ถึงบอร์ดบริหารของ Twitter เลยสักครั้ง
โดยหากย้อนอดีตไปดู เราพบว่า Twitter เคยแบนคนดังอย่าง ทีลา เหงียน หรือชื่อในวงการแสดงว่า ทีลา เทกีลา (Tila Tequila) นางแบบสาวอเมริกันเชื้อสายเวียดนามออกไปเพราะว่าเธอโพสต์ภาพการแสดงความเคารพแบบนาซี (แต่ปัจจุบันแอคเคาน์ Twitter ของเธอกลับมาใช้งานได้เป็นปกติแล้ว)
โดยซีอีโออย่าง Jack Dorsey ได้เคยตอบคำถามต่อกรณีนี้เอากับ NBC ได้น่าสนใจทีเดียว เมื่อเขาบอกว่า “really important to hear directly from leadership” ซึ่งไม่มีใครรู้ว่า ถ้าประธานาธิบดีอยู่บนแพลตฟอร์มอื่นที่ไม่ใช่ Twitter เขาจะออกมาแสดงจุดยืนเช่นนี้หรือไม่
สำหรับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เขาเริ่มเล่น Twitter ตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา ปัจจุบันมีผู้ติดตาม 36.1 ล้านคน และได้มีการทวีตมากกว่า 35,000 ครั้ง หรือเฉลี่ยมากกว่า 4,375 ครั้งต่อปี
ส่วนในตอนนี้ แม้ว่า Twitter จะเผชิญหน้ากับการมีผู้ใช้งานแบบ Active Monthly ลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 70 ล้านคนต่อเดือน เมื่อไตรมาสก่อนหน้า เป็น 68 ล้านคนต่อเดือนในปัจจุบัน รวมถึงมูลค่าหุ้นของ Twitter ที่ตกลงไปประมาณ 14% นับตั้งแต่ประธานาธิบดีทรัมป์ชนะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิการยนที่ผ่านมา (โดยปัจจุบัน มูลค่าตลาดของบริษัทอยู่ที่ 11,700 ล้านเหรียญสหรัฐ) แต่ในภาพรวม ปัญหาต่าง ๆ เหล่านั้นน่าจะไม่ส่งผลต่อธุรกิจมากเท่ากับการไม่มีประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์อยู่บนแพลตฟอร์ม และนั่นอาจเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไม Twitter ถึงไม่แบนแอคเคาน์ @realDonaldTrump เสียที แม้ว่าเขาจะโพสต์เรื่องที่ขัดต่อนโยบายการให้บริการของ Twitter และก่อให้เกิดความขัดแย้งกับประเทศต่าง ๆ มากมายก็ตาม
นึกถึงคำว่า “สองมาตรฐาน” ที่เคยโด่งดังในประเทศไทยขึ้นมาเลย
ที่มา: Marketwatch, Adage, Kansascity, SeattleTimes