นอกจากผู้บริโภคทั่วไป หลายคนอาจไม่รู้ว่าผู้ให้บริการชำระเงินออนไลน์กำลังใช้ประวัติบนโซเชียลมีเดียหรือ social media profile เป็นเครื่องมือในการวัดคะแนนความน่าเชื่อถือของบริษัทร้านค้าเช่นกัน ถือเป็นเทรนด์ความสำคัญของโซเชียลมีเดียที่นักการตลาดดิจิตอลและ SME ทั่วไทยควรรู้ เพื่อปรับตัวรับวิธีการประเมินเครดิตในยุคดิจิตอล
Bill Clerico ซีอีโอบริการชำระเงิน WePay เปิดเผยเรื่องนี้ไว้ในบทความเรื่อง “Why your social media profile might be your next credit score” โดยอธิบายว่าเพราะประวัติบนโซเชียลมีเดียเหล่านี้สามารถแสดงเครดิตของบริษัทน้อยใหญ่ได้จริงและหลายแง่มุม จึงทำให้บริษัททั้ง Kabbage, Affirm และ WePay เริ่มใช้ข้อมูลโซเชียลเหล่านี้ในการศึกษาและวัดความเสี่ยง ซึ่งทำให้ทุกคนสามารถลดความเสียหายจากภัยล่อลวงได้หลายล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี
ซีอีโอ WePay ชี้ว่าข้อมูลองค์กรบริษัทบนโซเชียลมีเดียนั้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทุกวินาที ไม่ว่าจะข้อความ Tweet ที่มีมากกว่า 400 ล้านข้อความต่อวัน การแชร์คอนเทนต์บน Facebook มากกว่า 985 ล้านครั้ง หรือการที่ชาว Facebook กด “like” แบรนด์องค์กรมากกว่า 50 ล้านครั้ง รวมถึงการโพสต์ภาพ 40 ล้านครั้งบน Instagram ล้วนทำให้เกิดเป็นคลังข้อมูลมหาศาล ที่สามารถตรวจสอบองค์กรว่ามีความน่าเชื่อถือหรือเครดิตมากน้อยเพียงไร
แต่ละปี มีนักมิจฉาชีพหลายรายพยายามสร้างองค์กรปลอมขึ้นมาบังหน้าเพื่อขโมยเงินออนไลน์หลายพันล้านเหรียญสหรัฐฯ หลายบริษัทชำระเงินออนไลน์จึงเริ่มลงทุนกับระบบวิเคราะห์ข้อมูลรอบด้านเพื่อให้สามารถประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ดีกว่าเดิม ซึ่งที่ผ่านมา ระบบวัดคะแนนความเชื่อถือดั้งเดิมนั้นสามารถชี้วัดเพียงความเสี่ยงผิวเผินของบุคคลหรือธุรกิจเท่านั้น ต่างจากการใช้ข้อมูลโซเชียลที่สามารถเข้าถึงประวัติความเป็นมาของบริษัทได้ลึกซึ้งและยาวนานกว่า
นักมิจฉาชีพอาจสามารถตั้งชื่อบริษัทปลอม ที่อยู่ และหมายเลขจะทะเบียนองค์กรได้ง่าย แต่การสร้างข้อมูลโซเชียลเป็นเวลานานหลายปีนั้นเป็นเรื่องยาก จุดนี้ทำให้บริษัทรับชำระเงินออนไลน์ตัดสินใจใช้ข้อมูลโซเชียลในการวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือบริษัทมากขึ้น จนทำให้โซเชียลมีเดียกลายเป็นปัจจัยถัดไปที่จะมีผลต่อคะแนนเครดิตบริษัทโดยตรง
ที่สำคัญ ข้อมูลโซเชียลยังสามารถบอกภาพรวมของคุณภาพ SME หรือบริษัทรายนั้นได้อย่างชัดเจน ทั้งเสียงร้องเรียนและชื่นชมจากผู้บริโภค ทั้งหมดนี้สามารถสะท้อนเครดิตด้านคุณภาพขององค์กรได้ระดับหนึ่ง
นอกจากนี้ ข้อมูลโซเชียลยังเปิดกว้างให้ค่ายบริการเงินออนไลน์สามารถตรวจสอบได้ฟรี ไม่ต้องเสียเงินซื้อข้อมูลจากบริษัทวิจัยให้ยุ่งยาก แถมยังได้ผลเกินคาดหมาย เพราะในส่วนของ WePay เอง บริษัทสามารถหยุดความพยายามล่อลวงเพื่อขโมยเงินมูลค่ากว่า 30 ล้านเหรียญสหรัฐในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา
เหนืออื่นใด การวิเคราะห์เครดิตจากข้อมูลโซเชียลยังช่วยให้ WePay ทำงานได้เร็วขึ้น โดยบริษัทสามารถอนุมัติร้านค้ากว่า 40% ได้อัตโนมัติโดยไม่ต้องเสียเวลาส่งข้อมูลหลักฐานการประกอบกิจการซึ่งถือเป็นความลับของธุรกิจอย่างเคย เนื่องจาก WePay สามารถประเมินความน่าเชื่อถือจากข้อมูลโซเชียลแล้วพบว่าเป็นธุรกิจที่มีตัวตนและถูกใจกลุ่มผู้บริโภคจำนวนมาก
เชื่อว่าเทรนด์นี้จะมาแน่ในตลาดไทย ดังนั้นนักการตลาดโซเชียลทราบแล้วต้องรีบเปลี่ยน…
ที่มา: VentureBeat