พอพูดถึง Tech Startups ทีไรไม่ว่าประเทศไหนๆ ส่วนใหญ่ก็มักจะเจอแต่หนุ่มๆ ประมาณ 90% เลยทีเดียว (ยกเว้นงานที่เน้นเพื่อกลุ่มสาวๆ โดยตรงเช่น Women 2.0, Girl in Tech หรืออย่างบ้านเราเช่น Women เม้าท์เล่า Startup) น้อยครั้งที่จะเจอสาวๆ ที่หันมาทำธุรกิจส่วนตัวด้าน Tech กัน เลยเป็นที่มาของบทความ “Women in Startups” ถ่ายทอดเรื่องราวผู้หญิงในแวดวง Startup ไทยให้เป็นที่รู้จักกันมากขึ้น โดยครั้งนี้เราไปพูดคุยกับผู้ชนะเลิศงาน Bangkok Social Innovation กับทีม Snap ‘n Bite เราไปทำความรู้จักกับพวกเธอกันเลยดีกว่า
thumbsup: ช่วยแนะนำตัวเองคร่าวๆ หน่อย
Snap ‘n Bite:
ธนทัต ไชยานนท์ (นนท์) ค่ะ ปัจจุบันเป็น นักวิชาการศึกษา อยู่สำนักวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการค่ะ
พิมพรรณ อยู่พูล (จ๋า) ค่ะ ปัจจุบันเป็น Software Engineer ด้านงานวิจัยและพัฒนาการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
ชุติกา อุดมสิน (พฤศ) ค่ะ ปัจจุบันทำ startup เต็มตัว
thumbsup: เราไม่ค่อยได้เห็น tech startup ไทยที่เป็นผู้หญิงทั้งทีม ช่วยเล่าที่มาการรวมตัว และทำไมถึงมาทำ tech startup กันเอ่ย?
Snap ‘n Bite: เป็นความบังเอิญที่เป็นผู้หญิงทั้งทีมนะคะ เลือกสมาชิกทีมกันตามความสามารถล้วนๆ เลย จุดเริ่มต้นก็คือนนท์กับพฤศเคยทำงานฟรีแลนซ์ด้วยกันมาก่อน แล้วก็คิดว่าอยากจะทำผลิตภัณฑ์ของตัวเองบ้าง แล้วพอดีเห็นประกาศ Health App Challenge (http://www.hac.in.th/) ของทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) Change Fusion และ Google ประกอบกับชื่นชมผลงานของเจ้าของงานเป็นการส่วนตัวอยู่แล้ว ก็เลยคิดว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ร่วมงานกัน เลยมองหาโปรแกรมเมอร์อีกคนมาทำงานด้วยกัน
แล้วเมื่อสองเดือนก่อนก็ได้ไปทานข้าวกับเพื่อนนนท์ชื่อจ๋า จ๋าก็โชว์แอพที่ทำในเวลาว่างให้ดู ก็รู้สึกประทับใจมากว่าคนนี้มีความหลงไหลในเทคโนโลยีดีจัง พอจะต้องการหาโปรแกรมเมอร์ก็เลยคิดถึงจ๋าเป็นคนแรก แล้วก็ดีใจมากที่จ๋าตอบตกลงมาร่วมงานกัน
thumbsup: แอพฯ หรือบริการ ที่ทำอยู่คืออะไร อะไรคือแรงบันดาลใจในการทำบริการนี้
Snap ‘n Bite: แอพฯ เราชื่อ Snap ‘n Bite นะคะ เป็นแอพที่ช่วยให้ผู้บริโภคเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ แรงบันดาลใจมาจากที่ว่าเมืองไทยเราเป็นอู่ข้าวอู่น้ำแต่ว่าเดี๋ยวนี้คนเราฝากท้องกันที่ร้านสะดวกซื้อมากขึ้น ซึ่งก็ยังไม่มีทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพมากนัก ประกอบกับไม่นานมานี้ สสส. ได้มีการรณรงค์เรื่องการจำกัดปริมาณการบริโภคหวาน มัน เค็ม เพื่อรักษาสุขภาพและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรค เราก็เลยคิดว่าอยากจะพัฒนาแอพที่ใช้เป็นเครื่องมือช่วยผู้บริโภคตัดสินใจเลือกซื้อและรับประทานอาหาร สร้างความตระหนักและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค ในระยะยาว เราคิดว่าอยากให้ Snap ‘n Bite เป็นกระบอกเสียงส่งไปสู่ร้านค้าและผู้ผลิต ให้มีทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพให้กับผู้บริโภคมากขึ้น
thumbsup: ได้ยินว่าไปคว้ารางวัลชนะเลิศที่งาน Bangkok Social Innovation ด้วย ช่วยเล่ารายละเอียดหน่อย
Snap ‘n Bite: ขอเท้าความนิดนึงว่า ตอนที่พวกเราได้ไปร่วมงาน Hackathon ของ Health App Challenge แล้วรู้สึกว่าได้เรียนรู้เยอะมาก ก็เลยคิดว่าอยากไปงานประมาณนี้อีก ที่งาน Hackathon ได้มีการประชาสัมพันธ์งาน Social Innovation Camp Bangkok (http://sicampbkk.com/) พวกเราก็เลยสนใจส่งไอเดีย Snap ‘n Bite ไปด้วย และได้รับเลือกเป็นหนึ่งในหกไอเดียนวัตกรรมความคิดสร้างสรรค์สังคม จาก 40 กว่าไอเดียที่ส่งเข้าไป
ใน Social Innovation Camp นั้น ก็มีการเปิดกว้างให้ผู้ที่สนใจในไอเดียของเรามาร่วมกิจกรรมด้วย ซึ่งพวกเราก็รู้สึกเป็นเกียรติมากที่ดร.น้อย (ดร.ฌีวาตรา ตาลชัย) นักวิจัยระดับโลกผู้เชี่ยวชาญ ด้านโรคอ้วน โรคเบาหวาน และเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลนักวิจัยรุ่นใหม่ยอดเยี่ยมจากสมาคมฮอร์โมนแห่งสหรัฐอเมริกา มาร่วมกิจกรรมกับเราด้วยค่ะ
รูปแบบของงาน Social Innovation Camp นี้ก็มีส่วนคล้ายกับงาน Hackathon ทั่วๆไป นั่นก็คือ แต่ละทีมต้องมาทำงานร่วมกันในเวลาจำกัด (48 ชั่วโมง) และนำเสนอผลงานในตอนจบ ส่วนที่ต่างจากงาน Hackathon อื่นๆ ก็คืองานนี้ต้องการสร้าง Social Enterprise ดังนั้นจะเน้นเรื่องผลกระทบที่มีต่อสังคมและความยั่งยืนของธุรกิจ (Sustainablity) ด้วย ซึ่งพวกเราก็ได้คำแนะนำดีๆ จาก mentor ทั้งเรื่องการออกแบบ เรื่องสุขภาพ และ Social Enterprise ทำให้แอพของเรามีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น
thumbsup: เห็นว่าต้องไปแข่งต่อกับประเทศอื่นๆ ที่สิงคโปร์ต่อ? เราคาดหวังอะไรจากงานครั้งนี้?
Snap ‘n Bite: จริงๆ แล้วไม่ได้เป็นการไปแข่งขัน แต่ว่าเป็น Show and Tell และมีโอกาสได้พบปะกับผู้เชี่ยวในหลายสาขาไม่ว่าจะเป็น การออกแบบ การพัฒนาโปรแกรม กิจการเพื่อสังคม การตลาด และการลงทุน เพื่อที่จะช่วยเราพัฒนาผลิตภัณฑ์และแผนธุรกิจให้ชัดเจนและตอบโจทย์ผู้ใช้งานได้จริงและพร้อมออกสู่ตลาด (Product-Market Fit) วันสุดท้ายจะมีนำเสนอผลงาน ซึ่งในงานนี้ก็มีนักลงทุนมาร่วมฟังด้วย
ทีม Snap ‘n Bite หวังว่าจะได้รับคำแนะนำที่ดีจาก mentor ถึงแม้ว่าการลงทุนอาจจะเร็วเกินไปในตอนนี้ แต่เราก็อยากจะสร้างเครือข่ายในระดับภูมิภาคเพื่อเพิ่มโอกาสในการต่อยอดแอพพลิเคชั่นของเราในอนาคต นอกจากนี้การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และแรงบันดาลใจจากทีมพัฒนาในประเทศอื่นๆ ก็เป็นสิ่งสำคัญที่เราจะได้รับจากงานนี้
thumbsup: กลับมาที่ผู้หญิงกับ startup บ้าง คุณว่าผู้หญิงขาดอะไร ทำไมถึงไม่ค่อยเห็นผู้ประกอบการที่เป็นผู้หญิงมากนัก
Snap ‘n Bite: ขอแสดงความคิดเกี่ยวกับ technology startup แล้วกันนะคะ เนื่องจากเป็น startup ที่คุ้นเคย ในมุมมองคิดว่าการที่ไม่ค่อยมีผู้ประกอบการที่เป็นผู้หญิงมากนัก นั่นเป็นเพราะ
1) จำนวนผู้หญิงที่เรียนวิชาด้านเทคโนโลยีมีจำนวนน้อยกว่าผู้ชายมาก จึงไม่แปลกอะไรที่เราไม่ค่อยเห็นผู้หญิงมาเป็นผู้สร้างและพัฒนางานทางด้านเทคโนโลยี
2) การทำ technology startup มักจะเริ่มเมื่อมีประสบการณ์และเงินลุงทุนระดับหนึ่ง เมื่อผู้หญิงที่ทำงานมาได้ซักพักและพอมีประสบการณ์และเงินทุนเพียงพอที่จะเริ่ม technology startup ก็ถึงวัยที่จะแต่งงานและมีความคาดหวังให้ดูแลครอบครัว
3) ผู้หญิงในบางครั้งยังไม่มีความมั่นใจเท่าผู้ชาย นอกจากนี้สังคมก็มีค่านิยมว่างานเทคโนโลยีเป็นงานของผู้ชาย
ปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาที่พบในประเทศไทยเท่านั้น ประเทศสหรัฐอเมริกาเองก็มีปัญหานี้เช่นเดียวกัน อย่างที่ Sheryl Sandberg COO ของ Facebook ก็เขียนไว้ในหนังสือชื่อ Lean In
thumbsup: แล้วคิดว่าอะไรคือจุดแข็งของผู้หญิง
Snap ‘n Bite: คิดว่าขึ้นกับตัวบุคคลค่ะ คงไม่มีอะไรที่เป็นจุดแข็งหรือจุดอ่อนของผู้หญิงหรือผู้ชาย เราเชื่อว่าทุกคนประสบความสำเร็จได้ถ้ามีความตั้งใจค่ะ
สุดท้ายนี้ขอฝากตัวกับคุณผู้อ่านด้วยนะคะ คุณสามารถติดตามพวกเราได้ที่ www.facebook.com/SnapnBite ซึ่งเราจะอัพเดตการเดินทางและสิ่งที่เราเรียนรู้จาก Social Innovation Camp ที่ Singapore และขั้นตอนการสร้างสรรผลงานแอพพลิเคชั่นของเราด้วยค่ะ