เรื่องของวงการเมืองนั้น มักจะยังเป็นเวทีของผู้ชายเป็นส่วนมาก หากมีผู้หญิงคนใดเข้าสู่วงการเมืองก็มักจะได้เป็นเพียงตำแหน่งรองลงมา อย่างเช่น โฆษกพรรค ที่ปรึกษา หรือมีชื่ออยู่ในกลุ่มบัญชีรายชื่อในเขตต่างๆ เท่านั้น วันนี้ Thumbsup จะมาเช็คประวัตินักธุรกิจหญิงคนใดที่สนใจเข้าสู่แวดวงการเมืองกันบ้าง
ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี
พระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และเป็นพระเชษฐภคินีพระองค์เดียวในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
หลังจากทรงสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี ณ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกาแล้ว ทรงประกาศลาออกจากฐานันดรศักดิ์เป็นสามัญชน เพื่อเข้าพระพิธีเสกสมรสกับปีเตอร์ แลดด์ เจนเซนในพระบรมหาราชวังตามพระราชประเพณี แล้วเสด็จไปประทับด้วยพระสวามี ณ สหรัฐอเมริกาเมื่อ พ.ศ. 2515 ก่อนจะเสด็จนิวัติประเทศไทยเป็นการถาวรเมื่อ พ.ศ. 2544
โดยหลังเสด็จนิวัติประเทศไทยเป็นการถาวร พระองค์ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจในด้านการรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ทรงช่วยเหลือราษฎรและให้โอกาส ผู้พิการ เยาวชน ตลอดจนประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ ทั้งยังทรงแสดงภาพยนตร์ตามบทพระนิพนธ์หลายเรื่อง และทรงเป็นผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์
สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์
คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (เกิด 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2504) เป็นนักการเมือง เคยร่วมประท้วงในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ อดีตรัฐมนตรีเคยดำรงตำแหน่งที่สำคัญทั้งในรัฐบาล ดร.ทักษิณ ชินวัตร และนายชวน หลีกภัย ปัจจุบันเป็นประธานมูลนิธิไทยพึ่งไทย และประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทย
สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้านการตลาด จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และระดับปริญญาโท บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต จากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ สำเร็จการศึกษาปริญญาเอก พุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา จาก คณะบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ
คนส่วนใหญ่ที่รู้จักครูจุ๊ย (Juice) หรือ กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ จะนึกถึงสิ่งหนึ่งควบคู่กันไปด้วยเสมอ นั่นคือ การศึกษาฟินแลนด์ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นการศึกษาที่มีระบบที่ดีที่สุดในโลก และไม่ได้รู้จักการศึกษาแบบฟินแลนด์แค่ในภาคทฤษฎีเท่านั้น เธอยังเป็นนักเรียนเก่าฟินแลนด์ตัวจริงที่มีโอกาสได้สัมผัสระบบที่ว่านี้ตั้งแต่การเป็นนักเรียนมัธยม และยังได้กลับไปเรียนที่นั่นอีกครั้งในฐานะนักศึกษาปริญญาโทด้วย
ประวัติการทำงาน เป็นอาจารย์พิเศษวิชาการสื่อสารข้ามวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยกรุงเทพ (ภาคอินเตอร์และภาษาไทย), ครูสอนวิชาภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร โครงการห้องเรียนวิศว์-วิทย์ ดรุณสิกขาลัย, คอลัมนิสต์ประจำ WAY Magazine, ปัจจุบันเป็นนักเขียนและนักแปลอิสระ (ที่มา : พรรคอนาคตใหม่)
พรรณิการ์ วานิช
หลังเรียนจบปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เธอก็ทำงานในสายสื่อสารมวลชนมาโดยตลอด พรรณิการ์เกิดวันที่ 28 มกราคม 2531 (ค.ศ. 1988) ปัจจุบันอายุ 30 ปี เป็นชาวกรุงเทพฯ โดยกำเนิด
ประวัติการทำงาน สถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี (2554 – 2560) ตำแหน่งสุดท้ายก่อนลาออก บรรณาธิการฝ่ายต่างประเทศ, พิธีกรรายการสารคดีเกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทยและประเทศอาเซียน iASEAN, พิธีกรรายการวิเคราะห์ข่าวการเมืองและเศรษฐกิจ Tonight Thailand, พิธีกรรายการวาไรตี้ ที่มีทั้งเรื่องการเมือง สิทธิมนุษยชน แฟชั่น วัฒนธรรม ท่องเที่ยว จากมุมมมองของผู้หญิง Divas Café, พิธีกรรายการข่าวต่างประเทศ Voice World Wide, และเคยฝึกงานที่กรมเอเชียใต้, ตะวันออกกลาง และแอฟริกา สังกัดกระทรวงต่างประเทศ (ที่มา : พรรคอนาคตใหม่)
กัลยา โสภณพนิช
คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ดูแลพื้นที่ภาคอีสาน กรรมการที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตประธานสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคประชาธิปัตย์
เคยทำงานเป็นกรรมการและหนึ่งในผู้ก่อตั้งศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค ขึ้นในปี พ.ศ. 2529 เป็นกรรมการและเลขานุการ โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน
โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในปี พ.ศ. 2521 เป็นผู้ก่อตั้งและประธานศูนย์ฝึกเด็กปัญญาอ่อน “ ประภาคารปัญญา ” มูลนิธิช่วยคนปัญญาอ่อนแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์
เป็นผู้ก่อตั้งและกรรมการเลขาธิการ มูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ ใน ปี พ.ศ. 2524 และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 จนถึงปัจจุบัน เป็นกรรมการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีแห่งชาติ เป็นนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตและคณะกรรมการสมาคมแห่งสถาบันพระปกเกล้า
นลินี ทวีสิน
ดร.นลินี ทวีสิน (สกุลเดิม มิสรา) หัวหน้าพรรคเพื่อธรรม อดีต ผู้แทนการค้าไทย อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อดีตผู้แทนการค้าไทย ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และเป็นผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทยและอดีตสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร
ดร.นลินี ทวีสิน กรรมการผู้จัดการ สำนักพิมพ์ SuccessMedia (หนังสือคอมพิวเตอร์) ต่อมาได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2549
อนุตตมา อมรวิวัฒน์
สมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ อดีตรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย อดีตรักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย อดีตรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร เขต 7 และเป็นบุตรสาวของพลตำรวจเอก สมบัติ อมรวิวัฒน์ (น้องชายของนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์)
อนุตตมา เริ่มทำงานภายหลังจากสำเร็จการศึกษา เป็นข้าราชการประจำกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ ในตำแหน่ง นักวิชาการพาณิชย์ ระดับ 6 จากนั้นจึงเปลี่ยนแปลงสายงานมาเป็นอาจารย์คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กระทั่งได้ลาออกจากงานอาจารย์ เพื่อลงสมัคร ส.ส. ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554
นอกจากนี้ ยังมีนักการเมืองสาวอีกหลายคนที่เป็นคนมีชื่อเสียงและเคยลงสู่สนามการเมือง ที่เราได้รวบรวมมาไว้ให้ค่ะ
พรพิมล ธรรมสาร
อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 4 จ.ปทุมธานี พรรคเพื่อไทย มีชื่อเล่นว่า “ก้อย” อดีตนักร้องนำของวงโอเวชั่นช่วง พ.ศ. 2530-2532 เป็นชาวลำปาง ศึกษาที่โรงเรียนเซนต์จอห์น และยังเรียนร้องเพลงที่ ที่โรงเรียนดนตรีวาธินี ควบคู่ไปด้วยและสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
พรพิมล ได้มาเป็นนักร้องนำของวงสตริงชื่อดังในยุคอดีตอย่าง โอเวชั่น แทน พัชรา แวงวรรณ นักร้องนำคนเก่าที่ นิธิทัศน์ โปรโมชั่น เห็นว่าเหมาะกับร้องเพลงช้ามากกว่าเพลงเร็วจึงได้แยกให้ไปทำอัลบั้มเดี่ยวและทางบริษัทจึงให้วงไปหานักร้องนำคนใหม่
หลังพรพิมลผ่านการเทสต์เสียงและได้เป็นนักร้องนำคนใหม่ในอัลบั้ม “เริ่มวัยรัก” ใน พ.ศ. 2530 และเมื่ออัลบั้มนี้ขายดีจึงเร่งทำอัลบั้มชุดต่อมาโดยในปี พ.ศ. 2532 พรพิมลได้ออกอัลบั้มชุดใหม่กับวงโอเวชั่น ในชื่อว่า “ไม่มีวันนั้นอีกแล้ว” หลังจากนั้นได้ออกอีกหลายอัลบั้มและลาออกไปแต่งงาน ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูกสอง
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย, อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคเพื่อไทย ด้วยวัย 44 ปี จัดว่าเป็นนายกรัฐมนตรีไทยซึ่งอายุน้อยที่สุดในรอบกว่า 60 ปี, กรรมการและเลขานุการมูลนิธิไทยคม และ เจ้าหน้าที่กองอาสารักษาดินแดนยศนายกองใหญ่
ยิ่งลักษณ์เกิดที่จังหวัดเชียงใหม่ สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยเคนทักกีสเตต ต่อมาเป็นผู้บริหารในธุรกิจซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 23 ผู้เป็นพี่ชาย และภายหลัง เป็นประธานบริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการบริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)
เมื่อปี พ.ศ. 2534 ยิ่งลักษณ์เริ่มเข้าทำงานที่บริษัทชินวัตร ไดเร็กทอรี่ส์ จำกัด (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัทเทเลอินโฟมีเดีย จำกัด (มหาชน)) ซึ่งเป็นธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ ฐานข้อมูลและการสื่อสาร ในตำแหน่งพนักงานฝึกหัดด้านการตลาดและการขาย
หลังจากนั้นในปีเดียวกัน เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ จนกระทั่งสู่ตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายผลิตในเวลาต่อมา จากนั้น พ.ศ. 2537 จึงมาเป็นผู้จัดการทั่วไป ของบริษัทเรนโบว์ มีเดีย ซึ่งเดิมเป็นแผนกงานโฆษณา ของบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (ไอบีซี; ปัจจุบันคือทรูวิชั่นส์)
โดยตำแหน่งสุดท้ายก่อนลาออกจากไอบีซีคือรองกรรมการผู้อำนวยการ จากนั้นในปี พ.ศ. 2545 เข้าสู่แวดวงธุรกิจเครือข่ายโทรศัพท์และการสื่อสาร ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และรองกรรมการผู้อำนวยการสายงานตลาด บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ในเครือชิน คอร์ปอเรชั่นโดยขึ้นถึงประธานกรรมการบริหารบริษัทเป็นตำแหน่งสุดท้าย
จณิสตา ลิ่วเฉลิมวงศ์
จณิสตา ลิ่วเฉลิมวงศ์ เกิดเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2515 มีชื่อเล่นว่า แบม เป็นบุตรของนายอาคม ลิ่วเฉลิมวงศ์ กับหม่อมราชวงศ์สิริมาดา วรวรรณ เป็นหลานตาของพันตำรวจโท หม่อมเจ้าหัชชากร วรวรรณ โอรสใน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ มีน้องสาวคือ ชญาดา ลิ่วเฉลิมวงศ์ หรือ โบ
จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาจาก โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ จบชั้นมัธยมศึกษาจาก โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน จบการศึกษาระดับปริญญาตรีรัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโท สาขาการพัฒนาภูมิภาคและเมือง จาก London School of Economics & Political Science (LSE) มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ
จณิสตา เคยทำงานในตำแหน่ง เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน ระดับ 5 สังกัด ศูนย์วิเคราะห์ และประสานแผนปฏิบัติการ ของ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ขณะเดียวกันเริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก จากการเป็นนางแบบถ่ายโฆษณา ก่อนจะรับเป็นพิธีกร รายการ ตีสิบ ทางช่อง 3 คู่กับ นายวิทวัส สุนทรวิเนตร ซึ่งทำให้จณิสตา มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักโดยทั่วไปอย่างกว้างขวาง
ณหทัย ทิวไผ่งาม
อดีตรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปี 2544 และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สังกัดพรรคไทยรักไทย
ดร.ณหทัย ทิวไผ่งาม เข้าศึกษาในระดับปริญญาตรีที่ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เอกมัธยมศิลป์ – อังกฤษชั้นสูง หลังจากนั้นได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาโท สาขาบริหารการศึกษา และ ปริญญาเอก สาขาบริหารจัดการอุดมศึกษานานาชาติ ที่ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน สหรัฐอเมริกา
ปี พ.ศ. 2548 ดร.ณหทัย ได้รับคัดเลือกจาก World Economic Forum ให้เป็นหนึ่งในสมาชิกของ Young Global Leaders
ปัจจุบัน ดร.ณหทัย ทิวไผ่งาม เป็นประธานที่ปรึกษา ของโรงเรียนทิวไผ่งาม ดูแลและพัฒนาโรงเรียน เป็นรุ่นที่ 2 ต่อจาก นายณรงค์ ทิวไผ่งาม และ นางอุษา ทิวไผ่งาม โดย มีน้องชายคือ ณัฐกฤษฎ์ ทิวไผ่งาม คอยดูแลด้วย