word of mouth ก็คือการพูดปากต่อปาก ไม่ว่าจะเป็นในเชิงของเพื่อนบอกต่อให้เพื่อนทราบ หรือ คนที่เรายอมรับเขาเป็นคนบอกต่อเราก็เชื่อได้โดยง่าย ซึ่งในปีนี้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นค่อนข้างเยอะ รวมถึงการแข่งขันของ Influencer ที่มากขึ้น จนกลายเป็นล้นตลาด
ส่วนแบรนด์เองก็โปรโมทผ่าน Influencer เยอะเกินไป จนคนเชื่อถือ Influencer น้อยลง ทำให้ word of mouth กลับมามีพลังอีกครั้ง แล้วแบรนด์ต้องปรับตัวอย่างไรกันอีก ลองมาติดตามกันค่ะ
สร้าง Group Facebook
วิธีนี้เพจใหญ่ๆ จะนิยมใช้งานกันเพื่อหนีความวุ่นวายของอัลกอริทึม เพราะ Group Facebook จะไม่ค่อยโดนปัญหาการปรับเปลี่ยนเท่าไหร่ ทำให้เพจใหญ่เริ่มมาเปิดกรุ๊ปเพื่อสร้าง Community ระหว่างแบรนด์กับแฟนให้เหนียวแน่นมากขึ้น รวมทั้งได้กลุ่มลูกค้าที่พร้อมจะสนใจคอนเทนต์ที่เราลงในทุกวัน รวมถึงเป็นแหล่งข้อมูลขั้นดีที่ทำให้รู้จักพฤติกรรมของลูกเพจ แถมยังประหยัดเวลาโปรโมทหรือทำคอนเทนต์ด้วย เพราะทุกคนอยากจะสร้างคอนเทนต์เองทั้งนั้น ทำให้เกิด word of mouth ที่มีคุณภาพมากไปโดยปริยาย
ใช้ Micro Influencer บน Twitter
การโปรโมทแคมเปญบนทวิตเตอร์ยังไม่ใช่จุดที่แบรนด์จะลงไปเล่นเองแล้วประสบความสำเร็จ เพราะแพลตฟอร์มนี้ ยังต้องการคนที่พูดความจริง ไม่โกหก และไม่ได้เข้ามาเล่นเพื่อหนีปัญหาใน Facebook มา ทำให้คอนเทนต์ที่ดูตั้งใจทำเกินไปจะไม่ค่อยได้ผล
แต่สิ่งที่เติบโตดีมากๆ คือ Micro Influencer เพราะมีการสื่อสารกับผู้ติดตามตลอดเวลา บ่นอะไรคนติดตามก็เข้ามามีส่วนร่วมได้ตลอด เรียกว่าเป็นแพลตฟอร์มที่ไม่ได้มีกำแพงกั้นระหว่างเจ้าของบัญชีกับผู้ติดตามมากนัก ทำให้เป็นจุดสำคัญที่แบรนด์สามารถมาเล่นได้ ช่วยกระจายคอนเทนต์เฉพาะกลุ่มและใกล้ตัวกลุ่มเป้าหมายได้มากกว่าแบรนด์โปรโมทเองอีกด้วย
งดความฮาร์ดเซลเกินไป
เพราะฮาร์ดเซลนี่ล่ะที่ทำให้ลูกค้าไม่อยากซื้อ ถือว่าเป็นปัญหาที่แบรนด์ต้องรู้จุดตรงกลางของกลุ่มเป้าหมายว่าจะใช้จังหวะในการโปรโมทอย่างไร ที่จะช่วยให้ลูกค้ายอมรับฟังข้อมูลของเราต่อ ไม่ใช่ส่งข้อมูลเยอะๆ ไปตั้งแต่รอบแรก การขายสินค้ามากเกินไปอาจจะทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าสินค้าไม่ต้องรีบซื้อก็ได้ เพราะยังไงก็มีขายตลอด ภาพลักษณ์ไม่ได้สร้างความมีคุณค่าของแบรนด์เท่าไหร่นัก ย่อมส่งผลแง่ลบในระยะยาว
การขายของแบบไม่รู้สึกว่าขาย คือ ทำให้ลูกค้าอยากจะพูดคุยรายละเอียดเกี่ยวกับแบรนด์ของเรามากขึ้น เช่น ให้ข้อมูลแค่ 5% เพื่อให้ลูกค้าอยากรู้อีก 95% แทนที่จะบอกทั้งหมดก็ให้ไปหาข้อมูลจากช่องทางอื่นๆ บ้าง เพื่อสร้างความน่าสนใจ ซึ่งวิธีนี้ใช้กับแบรนด์ที่สื่อสารเองกับลูกค้านะคะ ส่วนถ้าเป็นข้อมูลจำนวนมากก็ส่งให้มีเดียอื่นๆ ช่วยโปรโมทโดยเน้นบอกแค่วัตถุประสงค์สำคัญพอ แต่ลึกลับมากไป ค้นหายากก็อาจเจอความไม่น่าเชื่อถือหรือหลอกลวงได้นะคะ ดังนั้น จึงต้องปรับใช้ให้เหมาะสมค่ะ
เพิ่มคอนเทนต์เชิงพูดคุย
แบรนด์ไหนที่สามารถสร้าง Community ได้ ถือว่าชนะเลิศมากในยุคนี้ เพราะการสื่อสารกับลูกค้าในยุคโซเชียลไม่ควรมีกำแพงมากั้น แต่ควรทำให้ลูกค้ากับแบรนด์สื่อสารอะไรก็ง่าย รู้สึกเหมือนเขาเป็นเจ้าของธุรกิจและตอบคำถามแทนเราได้ แต่การจะสร้าง Community ให้ประสบความสำเร็จได้นั้น ก็ต้องเกิดจากการพูดคุยกันให้เข้าใจชัดเจน ทั้งรูปแบบของแบรนด์พูดเองและลูกค้าพูดกันเอง
สำหรับข้อแนะนำในการทำคอนเทนต์แนวเปิดนี้ ตัวอย่างเช่น ครีมรองพื้นที่ปังที่สุดของคุณคือแบรนด์ไหน หรือ สินค้าอะไรที่ควรซื้อซ้ำ โดยการเลือกใช้คีย์เวิร์ดที่เจาะข้อมูลเชิงลึกหรืออินไซต์ของลูกค้าไปเลย จะได้ไม่ต้องมานั่งเดาว่าแบรนด์เลิฟของเขาคือใคร ถือว่าได้ประโยชน์มากกว่าการทำ Keyword บน search engine อีกนะคะ
word of mouth ถือว่าเป็นเป้าหมายใหญ่ในการสื่อสารแบรนด์ของปีหน้า ที่จะทำอย่างไรให้เกิดการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายได้ ซึ่งแต่ละแบรนด์ต่างก็มีวิธีที่ไม่เหมือนกัน แนะนำว่าให้สำรวจแบรนด์สินค้าที่เขาขายของคล้ายกับเรา ใช้กลยุทธ์เหมือนเราได้สำเร็จแล้ว เพื่อเป็นแนวทางให้ได้รู้ทิศทางว่าควรไปในทางไหน และนำมาปรับใช้กับแบรนด์เราค่ะ