การทำงานที่บ้าน หรือ Work From Home กลายมาเป็นวิธีการทำงานของคนยุคใหม่ ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องดีสำหรับการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรค แต่กลับไม่ดีกับคนที่มีปัญหาเรื่องสุขภาพทั้งกายและใจ ที่อาจส่งผลให้งานออกมาไม่ดีอย่างที่หวัง
อนึ่งการที่เราเสีย Work-life Balance ไปเพราะการทำงานแบบไม่มีขีดจำกัด จากการไม่สื่อสารกับคนอื่น และเราเองก็จะเป็นต้องปรับตัวจนมี Work-life Harmony เพื่อเยียวยาชีวิตตัวเองให้ดีกว่าเดิม
นอกจากนี้ อาการขาดแรงบันดาลใจ ก็กลายมาเป็นอีกหนึ่งปัญหาของคนทำงานที่บ้านเพราะไม่สามารถแยกแยะชีวิตส่วนตัวกับการทำงาน ซึ่งการทำงานที่บ้านอาจขาดแรงกระตุ้นบางอย่างและเบื่อเทคโนโลยีที่เคยช่วยให้ทำงานง่ายขึ้น จนกลายมาเป็นการไม่อยากใช้งานเครื่องมือเหล่านี้และส่งผลต่อภาวะหมดไฟในการทำงานด้วย
ทั้งนี้ การไม่ได้ออกจากบ้านไปไหน ยังส่งผลให้เกิดภาวะ Social Isoation หรือความโดดเดี่ยวทางสังคมขึ้น แม้จะมีคนอยู่ในบ้านด้วย แต่เพราะต้องจดจ่อกับการทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ตลอดเวลา ก็จะลดการมีปฏิสัมพันธ์กับคนในครอบครัวและคิดว่าไม่จำเป็นต้องสื่อสารกับคนที่เจออยู่ในบ้านเดียวกันตลอดเวลา เพราะเจอแต่สิ่งเดิมๆ เหมือนทุกวัน ทำให้ไม่มีเรื่องราวมาเล่าสู่กันฟัง
เมื่อองค์กรไม่ใส่ใจเรื่องสุขภาพเท่าที่ควร
นอกจากความกังวลใจของบริษัทในเรื่องของการติดเชื้อโควิด-19 แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่บริษัทควรให้ความสนใจคือเรื่องของสภาพการทำงานของพนักงาน แม้จะมีการออกกฏให้พนักงานลดการเดินทางออกจากบ้าน ไม่อนุญาตให้พนักงานไปอยู่ในที่สุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อ หรือบังคับให้พนักงานโฟกัสกับการทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้มากขึ้น
สิ่งเหล่านี้ ส่งผลต่อสภาวะทางกายและใจจากการนั่งทำงานติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือที่เรียกว่า ภาวะ Work From Home Syndrome ซึ่งปัญหานี้จะส่งผลให้พนักงานเกิดภาวะหมดไฟในการทำงานจากการที่ต้องคุยงานแบบไม่มีจุดสิ้นสุด การประชุมที่ไม่สรุปสาระสำคัญแต่ต้องนั่งหน้าจอไปเรื่อยๆ หากใครลุกหายไปก็จะเจอความกดดันจากคำพูดหรือการแสดงออกที่ไม่เหมาะสมของเพื่อนร่วมงาน และอาจส่งผลต่อความเครียดจนไปถึงอาการซึมเศร้าได้
ทั้งนี้ ผู้บริหารบางองค์กรก็ไม่ได้ใส่ใจในเรื่องของสวัสดิการพิเศษหรือการใช้ชีวิตของพนักงานมากพอ อาจส่งผลต่อปัญหาการลาออกเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน เพราะการทำงานที่บ้านก็มีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ ซึ่งบางคนค่าใช้จ่ายอาจไม่ได้ลดลงเลย และกลายเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่พนักงานยังต้องแบกอยู่แม้จะทำงานที่บ้านก็ตาม
หรือแม้แต่ปัญหาเรื่องสุขภาพก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่พนักงานทุกคนต้องเจอ การที่คุณต้องประชุมหรือคุยงานตลอดเวลา อาจจะทำให้สายตาสั้นเพิ่มขึ้น ตาล้า ตาแห้ง หรือมองเห็นเงาจุดดำ ซึ่งเกิดจากการจ้องหน้าจอตลอดเวลา การมีปัญหาเรื่องข้อมือจากการพิมพ์งานไม่หยุด หรือปัญหาเรื่องคอ บ่า ไหล จากการนั่งผิดท่า เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่คนทำงานที่บ้านต้องเจอกันเกือบทุกคน
นอกจากนี้ การขาดสังคมกลายมาเป็นเรื่องที่สำคัญของพนักงานรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็น การไม่ได้ออกไปเจอเพื่อนที่ทำงาน ไม่ได้ไปพักผ่อนต่างจังหวัด ไม่ได้เดินทางไปต่างประเทศ อดดูคอนเสิร์ต ซึ่งอันนี้เหมือนจะเป็นการออกไปใช้ชีวิตของแต่ละคนตามไลฟ์สไตล์
แต่ในเรื่องของการทำงานก็ส่งผลกระทบหนักเช่นกัน บางคนไม่มีงานทำ บางบริษัทเงินเดือนไม่ขึ้น โบนัสไม่มี หรือบางคนอาจเจอปัญหาการเลย์ออฟพนักงานเพื่อรักษาความมั่นคงของธุรกิจ ทำให้บางคนเจอภาวะตกงาน และยังหางานไม่ได้ เพราะบริษัทที่รับสมัครอาจจะรอจังหวะให้ทุกอย่างกลับมาเป็นเหมือนเดิมก่อนรับคนใหม่เข้ามาอีกครั้ง
แก้ไขอย่างไรดี
แน่นอนว่ามีทั้งบริษัทที่อยากแก้ไขปัญหาเหล่านี้ หรือเมินเฉยเพราะมองว่าเป็นเรื่องส่วนบุคคล ซึ่งพนักงานไม่ว่าจะเจอปัญหาแบบไหน ก็อยากที่จะให้บริษัทใส่ใจและเข้ามาช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหา ก็ต้องอยู่ที่วิสัยทัศน์ของคนเป็นหัวหน้าหรือผู้บริหารว่าพวกเขายอมรับต่อสภาวะการเปลี่ยนแปลงของโลก และพร้อมช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์อย่างไรบ้าง
ส่วนใหญ่สิ่งที่พนักงานต้องการอาจจะไม่ใช่แค่เรื่องของตัวเงินเพียงอย่างเดียว การเข้าช่วยเหลือเยียวยาสิ่งแวดล้อมหรือสภาพจิตใจก็เป็นเรื่องที่พนักงานต้องการเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น การเข้าช่วยเหลือในการเป็นที่ปรึกษาด้านสุขภาพ การจัดเวลาการทำงานให้เป็นระบบ รวมทั้งการซัพพอร์ตในเรื่องกิจกรรมที่ทำร่วมกันผ่านออนไลน์ได้
แม้หน่วยงานภาครัฐจะเริ่มปล่อยให้ประชาชนออกไปใช้ชีวิตได้แล้ว และคนส่วนใหญ่ก็พร้อมจะออกไปใช้ชีวิต แต่สถานการณ์บางอย่างไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว เช่น ไม่ได้มีงานทำเหมือนเดิม ไม่ได้มีอัตราเงินเดือนสูงเหมือนเดิม หรือภาวะหนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้ไม่ใช่แค่บริษัทหรือองค์กรควรเข้ามาช่วยเหลือเท่านั้น แต่สภาพการณ์ของส่วนกลางก็ควรช่วยเหลือเพื่อฟื้นฟูจิตใจของประชาชนเช่นกัน