ธนาคารโลก (World Bank) เผยรายงาน “Thailand Economic Monitor June 2020: Thailand in the Time of COVID-19” หรือ “เศรษฐกิจไทยในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19” ซึ่งคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของไทยจะหดตัวลงราว 5% ในปี 2020 นับเป็นหนึ่งในประเทศที่มีเศรษฐกิจหดตัวลงมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
โดยธนาคารโลกได้สำรวจผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา รายงานระบุว่า มาตรการควบคุมโรคได้ส่งกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจของไทย จากการที่ห่วงโซ่อุปทานและภาคการส่งออกทั่วโลกชะลอตัว ส่วนภาคการท่องเที่ยวที่คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 15% ของจีดีพีไทยก็หยุดชะงัก
ที่สำคัญการจำกัดการเดินทางภายในประเทศส่งผลให้การใช้จ่ายของครัวเรือนลดลง ภาคค้าปลีกและบริการได้กระทบอย่างรุนแรง ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคก็ลดลงอย่างรวดเร็วจากอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นและอัตราเงินเฟ้อที่ลดลง
มาตรการรับมือผลกระทบของไทย
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีมาตรการช่วยเหลือภาคครัวเรือนและโครงการโครงสร้างพื้นฐานสำหรับเศรษฐกิจชุมชนคิดเป็น 5.9% ของจีดีพี มาตรการรักษาสภาพคล่องของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนคิดเป็น 2.4% ของจีดีพี และสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ภาคเอสเอ็มอีราว 2.9% ของจีดีพี นอกจากนี้ยังมีมาตรการลดภาษีและปรับโครงสร้างหนี้ให้แก่ผู้ประกอบการและภาคครัวเรือนอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม จากผลกระทบและมาตรการรับมือ ธนาคารโลกคาดว่าผู้มีรายได้ต่ำ (ต่ำกว่า 170 บาทต่อวัน) จะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากประมาณ 4.7 ล้านคนในไตรมาส 1/2020 เป็น 9.7 ล้านคนในไตรมาส 2/2020 ก่อนที่จะค่อย ๆ ลดลงสู่ระดับ 7.8 ล้านคนในไตรมาส 3/2020
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
ธนาคารโลกคาดว่า เศรษฐกิจไทยจะใช้เวลาราว 2 ปี จึงจะฟื้นตัวกลับมาในระดับเดียวกันกับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยการฟื้นตัวต้องอาศัยมาตรการรับมือผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเยียวยาผู้ประกอบการและภาคครัวเรือนที่เปราะบางอย่างมีประสิทธิภาพ
ส่วนในระยะยาวควรมีนโยบายเพิ่มทักษะในด้านต่างๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน รวมถึงใช้งบประมาณให้ตรงจุดและมีประสิทธิภาพเพื่อให้มีความพร้อมในการรับมือวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้
อ้างอิง World Bank