ในยุคสมัยที่โซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทกับผู้คนมากขึ้น การเข้าถึงโอกาสหรือจังหวะที่คนใช้งานก็เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่แบรนด์หรือธุรกิจพยายามที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึง เพื่อช่วยสร้างโอกาสที่ลูกค้าจะ “พบเห็น” หรือ “สั่งซื้อ” เมื่อพวกเขาได้รับรู้ข้อมูลของแบรนด์นั้นๆ
แต่การใช้ระบบอัตโนมัติในการทำงานที่มากเกินไป ก็มีความเสี่ยงที่จะผิดพลาดเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการตั้งค่าโฆษณาที่ผิดจังหวะ ซึ่งเห็นได้จากหลายกรณีศึกษาก่อนหน้านี้ (เช่น เคสของโปเตโต้คอร์เนอร์หรือร้านอาหารโอมุ ก็เป็นเคสที่เห็นได้ชัด)
ซึ่งความผิดพลาดที่เกิดขึ้นนั้น อาจส่งผลต่อยอดขายหรือปัญหาสำคัญที่ส่งผลให้แบรนด์เสียหายไปเลยก็เป็นได้
และนี่คือสิ่งที่ต้องระวังในการตั้งเวลาโพสต์โซเชียลมีเดียของแบรนด์ธุรกิจของคุณ
- ใช้เนื้อหาเดียวกันในทุกแพลตฟอร์ม : แน่นอนว่าในการทำคอนเทนต์แต่ละครั้งต้องใช้เวลาอย่างมาก แต่ถ้าทุกแพลตฟอร์มใช้เนื้อหาเดียวกันทั้งหมด โดยไม่ศึกษาในเรื่องของพื้นที่อาศัย รูปแบบหรือภาษาในการนำเสนอ รวมถึงจำนวนคำที่เหมาะสม ก็อาจเป็นเหตุผลให้คนติดตามเลื่อนโพสต์ของเราผ่านไปอย่างรวดเร็วได้เช่นกัน เช่น จำนวนคำในโพสต์เฟสบุค อาจจะใช้ความยาวมากน้อยแค่ไหนก็ได้ แต่ในทวิตเตอร์ต้องกระชับฉับไวอ่านแล้วเข้าใจได้ทันที แค่นี้ก็มีผลต่อการคลิกอ่านต่อหรือติดตามคอนเทนต์ของเราได้
- เนื้อหาที่ควรเขียนเพียงแค่ครั้งเดียว : ในการโพสต์เนื้อหาที่เป็นประโยชน์แบบ evergreen content นั้น อาจเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจและนำมาแบ่งปันซ้ำได้ เพราะอาจมีประโยชน์ที่คนอยากอ่านซ้ำ แต่ก็ไม่ควรบ่อยจนเกินไปเพราะถ้า repost คอนเทนต์ที่มีประโยชน์เพียงอันเดียวทุกสัปดาห์คนอ่านก็อาจจะไม่แชร์ซ้ำ ดังนั้นจึงต้องเช็คตารางให้ดีว่าคุณรีโพสต์คอนเทนต์นั้นกี่ครั้งแล้ว
- ไม่เช็คเงื่อนไขการโพสต์ของแต่ละแพลตฟอร์ม : การโพสต์เนื้อหาเดียวกันในแต่ละแพลตฟอร์มนั้น สามารถรีโพสต์จากบัญชีผู้ใช้งานที่เป็นขององค์กรเดียวกันได้ เช่น thumbsup มีเว็บไซต์ในเครือคือ RainMAker และ Mango Zero หากคอนเทนต์เหมาะกับผู้อ่านก็นำมารีโพสต์ใน Facebook หรือ Twitter ได้ เพราะผู้ติดตาม Thumbsup อาจจะยังไม่เห็น Feed หรือข้ามผ่านคอนเทนต์จากเพจในเครือไปแล้ว การได้มาเห็นจากช่องทางของเพจในเครือก็เป็นอีกหนึ่งโอกาสในการเข้าถึงกลุ่มผู้ติดตามใหม่ๆ เช่นกัน
- ปรับขนาดของภาพให้เหมาะสมกับแต่ละแพลตฟอร์ม : จริงอยู่ว่าการใช้ภาพที่มีขนาดใหญ่ย่อมดีกว่าขนาดเล็กเพราะจะทำให้ภาพมัว แต่จะดีกว่าไหมหากเราทำขนาดภาพที่พอดีกับแพลตฟอร์มนั้นๆ ไปเลย โดยอาจจะให้คนทำกราฟิกออกแบบขนาดภาพที่เหมาะสมให้ในการโพสต์แต่ละแพลตฟอร์ แล้วทีมคอนเทนต์ก็จะได้มีขนาดภาพที่พร้อมใช้งานได้ทันทีและรวดเร็วในการทำงานด้วย
- ตั้งเวลาโพสต์ทีละรายการแทนการตั้งโพสต์แบบกลุ่ม : เพื่อให้ทำงานได้เร็วขึ้นทีมคอนเทนต์อาจจะใช้ตัวช่วยในการโพสต์ให้เร็วขึ้นด้วยการพิมพ์ครั้งเดียวแชร์ได้ทุกแพลตฟอร์ม และยังกำหนดเวลาและเนื้อหาได้นานเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน ซึ่งการโพสต์แบบนี้อาจจะมีข้อผิดพลาดโดยที่เราไม่รู้ตัวได้
- ตารางโพสต์อย่าแน่นจนเกินไป : ในแต่ละสัปดาห์คุณอาจจะมีแผนงานอยู่แล้วว่าจะต้องโพสต์คอนเทนต์อะไรบ้าง แต่การกำหนดเนื้อหาที่จะนำเสนอผ่านแพลตฟอร์มเดียวในจำนวนที่มากเกินไป อาจจะทำให้แก้ไขปัญหาหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นไม่ทัน หรือการตอบสนองต่อข่าวหรือปัญหาไม่ทันก็เป็นได้
- ไม่ให้ทีมช่วยตรวจสอบก่อนโพสต์ : การโพสต์ในแต่ละครั้งจะมีมูลค่าในการทำงานทั้งสิ้น เพราะถือเป็นหนึ่งในขั้นตอนการทำงาน ดังนั้นจึงต้องระวังการพิมพ์ผิดหรือเช็คร่วมกับทีมก่อนโพสต์ทุกครั้ง
- มองข้ามการทำคอนเทนต์แบบ LIVE : จริงอยู่ว่าการทำคอนเทนต์ล่วงหน้าจะช่วยให้วางแผนการทำงานได้ดี แต่การไม่ทำคอนเทนต์ประเภท LIVE ก็อาจเสียโอกาสเข้าถึงลูกค้าบางส่วนได้ ใครจะไปรู้ว่าสินค้าของคุณกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดอยู่หรือไม่ การแนะนำสินค้าแบบ LIVE ที่เปิดกว้างให้ลูกค้าที่ติดตามและมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสินค้าของคุณได้สอบถามและช่วยแก้ไขปัญหาทันที ก็ช่วยเพิ่มโอกาสในความภักดีต่อแบรนด์ได้มากขึ้น
- มองข้ามเรื่องการวัดผล : นอกจากการตั้งค่าโพสต์โซเชียลมีเดียในแต่ละแพลตฟอร์มแล้ว การดูผลวิเคราะห์ของระบบจะช่วยให้คนทำคอนเทนต์สามารถปรับหัวข้อและเวลาในการโพสต์ได้เหมาะสมขึ้น ดังนั้น หากผลวิเคราะห์ออกมาผลสรุปออกมาไม่ดีก็อย่ากังวลไป การปรับกลยุทธ์ใหม่ได้อย่างรวดเร็วต่างหากที่จะช่วยเพิ่มยอดและเพิ่มจำนวนการคลิกได้
- ใช้งานระบบอัตโนมัติมากเกินไป : การโพสต์บนโซเชียลมีเดียที่บ่อยขึ้น ไม่ได้หมายความว่าจะเพิ่มยอดขายได้เสมอไป แต่อาจทำให้ผู้ติดตามเพจของคุณรู้สึกรำคาญและอยากที่จะ unfollow คุณมากขึ้น หรือการโพสต์ตามจำนวนเวลาที่กำหนดถ้าเป็นคอนเทนต์ที่มีประโยชน์อาจจะช่วยให้ผู้คนยังติดตามคุณอยู่ ดังนั้นจึงควรกำหนดจังหวะที่เหมาะสมหรือเนื้อหาที่มีประโยชน์คนอยากแชร์ดีกว่าการใช้ระบบอัตโนมัติโพสต์ตลอดเวลา