Site icon Thumbsup

Xiaomi ทุ่ม 30,000 ล้าน ดันวิดีโอคอนเทนต์ออนไลน์ หวังโกยรายได้จากกระแสสมาร์ททีวี

Xiaomi ประกาศในแอคเคาท์ Weibo อย่างเป็นทางการว่ามีแผนจะลงทุนในวิดีโอคอนเทนต์แบบออนไลน์เป็นจำนวนเงินถึง 30,000 ล้านบาท เพื่อรองรับระบบสมาร์ททีวีของตัวเองแบบครบวงจร จากการรายงานโดย Techcrunch

แผนการลงทุนครั้งนี้เกิดจากวิสัยทัศน์ของ 2 ผู้บริหารที่มีประสบการณ์ด้านการสร้างวิดีโอคอนเทนต์แบบออนไลน์มาแล้ว ได้แก่ Chen Tong อดีตบรรณาธิการบริหารของเว็ฐไซต์ข่าว sina.com ที่ Xiaomi ซื้อตัวมาเมื่อเดือนก่อน และ Wang Chuan ผู้อำนวยการสายผลิตภัณฑ์สมาร์ททีวีของ Xiaomi ได้แก่ Mi TV และ Mi Box โดยก่อนที่ Wang จะเข้ามาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและรองประธานของ Xiaomi เขาเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท Beijing Doukan Technology ในปี 2010 พัฒนาแอปพลิเคชั่นบุ๊คสโตร์แบบออนไลน์ที่มีชื่อว่า Doukan และถูก Xiaomi ซื้อกิจการในปี 2012

สมาร์ททีวีของ Xiaomi เปิดตัวครั้งแรกในเดือนกันยายนปี 2013 เป็นส่วนหนึ่งของแผนการสร้างระบบของฮาร์ดแวร์ที่จะรองรับการเชื่อมต่อกันทั้งสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต สมาร์ททีวี และ wi-fi routers โดยโมเดลการทำเงินจะมาจากการขายฮาร์ดแวร์ และบริษัทก็จะสร้างซอฟท์แวร์และผลิตออนไลน์คอนเทนต์ขึ้นมาเพื่อจูงใจให้เกิดการซื้อ นี่คือที่มาว่าทำไม Xiaomi ถึงทุ่มทุนกับวิดีโอคอนเทนต์ขนาดนี้

ประกอบกับอุตสาหกรรมสมาร์ททีวีในจีนขณะนี้ก็กำลังเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว คาดกันว่ามีส่วนแบ่งตลาดก้อนใหญ่รอ Xiaomi อยู่ จากผลการสำรวจของ Digital TV Research ระบุว่าจีนเป็นตลาดสมาร์ททีวีที่ใหญ่ที่สุดในโลก มียอดขายชุดอุปกรณ์สมาร์ททีวีอยู่ที่ 20 – 30 ล้านชุดในแต่ละปี

สำหรับการลงมาเล่นในตลาดสมาร์ททีวี จะทำให้ Xiaomi เป็นคู่แข่งโดยตรงกับบริษัทเทคโนโลยีร่วมสายเลือดจีนอย่าง Baidu และ Alibaba เช่นเดียวกันกับ Samsung และ Apple ที่เป็นคู่แข่งในระดับโลก

ในขณะนี้คงยังไม่ต้องพูดถึงการแข่งขันในตลาดโลก เพราะแค่ 2 บริษัทยักใหญ่ในประเทศก็ทำเอา Xiaomi ต้องก่ายหน้าผากคิดกลยุทธ์กันอย่างหนัก สมาร์ททีวีของ Baidu มีชื่อว่า TV+ ถือว่าเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในสงครามวิดีโอคอนเทนต์ เพราะเป็นพาร์ทเนอร์กับ iQiyi และ PPS ผู้ผลิตวิดีโอคอนเทนต์ออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในจีน แถมยังเปิดให้ผู้ใช้งานชมภาพยนตร์และซีรี่ส์ฟรีอีกต่างหาก ส่วน Alibaba มีจุดแข็งอยู่ที่การเลือกซื้อสินค้าผ่านระบบสมาร์ททีวีได้เลย เป็นการใช้ประโยชน์จาก Tmall, Taobao และ Alipay อย่างเต็มที่