Site icon Thumbsup

ฟินแลนด์กำลังจะมี “นายกรัฐมนตรีหญิง” และเป็นนายกฯ ที่อายุน้อยสุดในโลก มาทำความรู้จักกันว่าเธอคือใคร?

วันนี้อีกหนึ่งข่าวสำคัญระดับโลกคงหนีไม่พ้น การขึ้นดำรงตำแหน่งของ Sanna Marin นายกรัฐมนตรีหญิงคนใหม่ของประเทศฟินแลนด์ โดยขึ้นดำรงตำแหน่งแทนที่ Antti Rinne นายกฯ คนก่อนหน้าที่ประกาศลาออกไปเมื่อวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา ทำไมเธอจึงน่าสนใจขึ้นมา และได้รับการตอบรับอย่างดีใน Twitter วันนี้ thumbsup มีประวัติของเธอมาเล่าให้ฟังกันครับ

Sanna Marin | Photo: Jari Niemelä/Wikipedia

พรรคร่วมรัฐบาลขอเปลี่ยนตัวนายกฯ

ก่อนหน้านี้ ประเทศฟินแลนด์ได้มีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2562 โดยได้มีการจัดตั้งรัฐบาล 5 พรรค ได้แก่ พรรค Social Democratic Party (40 ที่นั่ง), Centre Party (31 ที่นั่ง), Green League (20 ที่นั่ง), Left Alliance (16 ที่นั่ง) และ Swedish People’s Party of Finland (9 ที่นั่ง) แน่นอนพรรคเหล่านี้มีแนวคิดเสรีนิยม (Liberal) ตรงข้ามกับอนุรักษ์นิยม (Conservatie)

โดยพรรค Social Democratic Party มีจำนวนที่นั่งในสภามากที่สุด หัวหน้าพรรคอย่าง Antti Rinne จึงได้ขึ้นเป็นนายกฯ ของฟินแลนด์เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2562

Antti Rinne | Photo: European Parliament/EU

ต่อมาการบริหารงานของ Antti Rinne เกิดปัญหา อันเนื่องมาจากการประท้วงหยุดงานของสายการบิน Finnair (รัฐเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่) และ Posti ไปรษณีย์แห่งชาติที่เกิดขึ้น ทำให้พรรค Centre Party กดดันให้ Antti Rinne ลาออก เนื่องจากหมดความเชื่อมั่นในการบริหารงาน

ในที่สุด Antti Rinne ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ ฟินแลนด์เมื่อ 3 ธันวาคม 2562 ทำให้การสรรหาหัวหน้าพรรค Social Democratic Party คนใหม่เกิดขึ้น

ซึ่งผลออกมาว่า Sanna Marin รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมของฟินแลนด์ ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคแกนนำรัฐบาลอย่าง Social Democratic Party ด้วยอยู่แล้ว ได้ถูกรับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่

แน่นอนว่าพอได้เป็นหัวหน้าพรรคแล้ว ก็ได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของฟินแลนด์ซึ่งมีประชากร 5.5 ล้านคน มาโดยอัตโนมัติ

ประวัตินายกหญิงคนที่ 3 ของฟินแลนด์

Sanna Marin | Photo: Jukka-Pekka Flander/SDP

Sanna Marin นายกรัฐมนตรีหญิงของฟินแลนด์คนใหม่ที่จะเริ่มดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 10 ธันวาคมนี้ ปัจจุบันอายุ 34 ปี กลายเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดำรงอยู่แล้วมีอายุน้อยที่ของโลก ซึ่งเมื่อเทียบกับผู้นำประเทศอื่น จะพบว่า นายกฯ นิวซีแลนด์อย่าง Jacinda Ardern มีอายุ 39 ปี, Oleksiy Honcharuk นายกฯ ยูเครนก็มีอายุ 35 ปี ส่วน Kim Jong-un ผู้นำเกาหลีเหนือนั้นมีอายุ 35 ปี

Marin มีประสบการณ์ทางการเมืองในระดับหนึ่ง เพราะเธอเป็นนายกเทศมนตรีเมือง Tampere เมื่ออายุ 27 ปี ต่อมาได้เป็น ส.ส. ครั้งแรกเมื่ออายุ 30 ปี (2558) ส่วนตำแหน่งในรัฐบาลของ Marin ก่อนหน้านี้ (เมื่อมิถุนายน 2562) คือการเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

หลังจากนี้ เธอจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 3 ของฟินแลนด์ หลังก่อนหน้านี้ที่ฟินแลนด์มีอดีตนายกรัฐมนตรีหญิง คือ Anneli Jäätteenmäki (2547) และ Mari Kiviniemi (2553-2554)

ด้านชีวิตส่วนตัว เธอเติบโตมาจากครอบครัวหญิงรักหญิง ซึ่งอาศัยอยู่ในอพาร์ทเมนต์กับแม่ทั้ง 2 คน โดย BBC ระบุว่า Menaiset สื่อในฟินแลนด์ได้สัมภาษณ์เธอเมื่อปี 2558 โดย Sanna Marin ยอมรับว่ารู้สึกไร้ตัวตน เพราะไม่สามารถพูดถึงเรื่องครอบครัวของเธอได้แบบเปิดเผย

แต่อย่างไรก็ตาม เธอก็เล่าต่อว่า ครอบครัวสนับสนุนเธอเป็นอย่างดี พร้อมทำให้เธอเชื่อว่าเธอทำทุกสิ่งได้อย่างที่ต้องการ จนในที่สุดเธอก็เป็นสมาชิกคนแรกของครอบครัวที่เรียนในมาวิทยาลัยได้สำเร็จ

ซึ่งในปี 2560 Marin เธอก็ได้จบถึงระดับปริญญาเอกด้านบริหารศาสตร์ (Administrative Science) สำเร็จ

ส่วนชีวิตสมรสนั้น เธอสมรสกับ Markus Räikkönen และมีลูกสาวอายุ 22 เดือนอยู่ 1 คน

กระแสออนไลน์ชูโลกผู้นำหญิงกำลังกลับมา?

ผู้เขียนข่าวได้เห็นกระแสนายกหญิงคนใหม่ของฟินแลนด์ถูกพูดถึงใน Twitter อยู่พอสมควร โดยมี Twitter บัญชีหนึ่งได้ทำภาพพร้อมข้อความระบุว่า 5 พรรครัฐบาลฟินแลนด์มีผู้นำที่เป็นผู้หญิง

แต่เมื่อตรวจสอบข้อมูลพบว่า 4 พรรคร่วมรัฐบาลมีผู้นำที่เป็นผู้หญิงจริง โดย

แน่นอนกระแสที่มีขึ้นมา ถูกพูดถึงจากหลายๆ ประเทศด้วย เพราะผู้นำประเทศส่วนใหญ่ก็เป็นเพศชาย และพรรคที่ขึ้นเป็นรัฐบาลในหลายประเทศก็มีแนวคิดอนุรักษ์นิยม ประกอบกับกระแสการผลักดันให้ผู้หญิงมีส่วนในระดับบริหารก็มีมาขึ้นเรื่อยๆ

จึงไม่แปลกว่ากระแสนายกฯ หญิงของฟินแลนด์จึงถูกพูดขึ้นมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในระหว่างการสรรหาหัวหน้าพรรค Social Democratic Party ใหม่ เธอระบุว่าจะเรียกความเชื่อมั่นให้กับพรรคและรัฐบาลคืนกลับมา รวมถึงจะแก้ปัญหาภายในพรรคร่วมรัฐบาลอีกด้วย

เมื่อมีคำถามถึงอายุของเธอ Marin กล่าวว่า “ฉันไม่เคยคิดเรื่องของอายุหรือเพศของฉันเลย ฉันคิดว่าเหตุผลที่เข้ามาทำงานการเมืองมากกว่า และสิ่งต่างๆ ที่ทำมา นั่นคือสิ่งที่ทำให้ฉันได้รับความเชื่อมั่นจากผู้ที่ลงคะแนนให้ฉัน”

ช่วงเวลาในการเปลี่ยนนายกฯ ฟินแลนด์ค่อนข้างหวาดเสียวพอสมควร เพราะฟินแลนด์กำลังต้องทำหน้าที่เป็นประธานของสหภาพยุโรป (European Union: EU) ในช่วงสิ้นปี 2562 นี้ ทำให้ฟินแลนด์ต้องเร่งหานายกฯ คนใหม่มาบริหารและเป็นตัวแทนใน EU ให้ทันกาล

แม้กระแสจะดีเพราะสนับสนุนการให้ผู้หญิงมีบทบาทในฐานะผู้นำ ประกอบกับฟินแลนด์มีหลายเรื่องที่โลกให้การยอมรับ ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่มีมวลความสุขมากในระดับ Top ของโลก รวมถึงเป็นประเทศที่มีระบบการศึกษาติด Top ระดับโลก

แต่เรื่องการบริหารภายในประเทศยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไปว่าจะผ่านไปได้ด้วยดีหรือไม่

ที่มา: BBC, The Guardian, Reuters และ Bloomberg