ทาง Thumbsup ได้มีโอกาสเข้าร่วมงาน Youtube Day 2018 ที่รวบรวมข้อมูลไว้ให้แก่ชาว Youtuber และได้จัดเก็บข้อมูลตัวเลขที่น่าสนใจให้กับชาว Agency นำไปใช้ในการสร้างสรรค์ Content ดีๆ ให้โดนใจผู้ชมกันค่ะ โดยผลสำรวจต่างๆ ทาง Youtube ได้จัดทำร่วมกับ TNS บริษัทวิจัยตลาดชั้นนำตลอดปี 2017 ที่ต้องยอมรับว่า Youtube เข้าถึงคนได้มากขึ้นกว่าเดิมถึง 3 เท่าตัวกันเลยทีเดียว
การนำเสนอข้อมูลในครั้งนี้ มีผู้ให้ข้อมูลคือ คุณเบน คิง Country Director, Google Thailand และ คุณมุกพิมพ์ อนันตชัย Head of Content Partnerships, Youtube Thailand โดยข้อมูลที่น่าสนใจมีดังนี้ค่ะ
มีผู้เข้าใช้งาน Youtube ทั่วโลกกว่า 1,000 ล้านชั่วโมง/วัน และ 1,500 ล้านยูสเซอร์/เดือนที่ล็อกอินเข้าใช้งาน
แน่นอนว่า ประเทศไทยมีการรับชมมากจนติดอันดับ Top 10 ของการดูวีดีโอคอนเทนต์มากที่สุด เมื่อเทียบกับทั่วโลกถือว่ารับชมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
จากจำนวนประชากรที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตทั่วประเทศกว่า 40 ล้านคนของไทย มีกว่า 93% ของคนเมืองที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตใช้งาน Youtube และคนที่อยู่นอกเขตพื้นที่เมืองหรือต่างจังหวัดก็ใช้งานมากถึง 92% เช่นกัน เรียกได้ว่า ไม่ว่าผู้ชมจะอยู่ที่แห่งใดในประเทศไทย ไม่มีใครไม่รู้จักและไม่เคยเข้าใช้งาน Youtube
สิ่งที่ผู้บริหารบอกว่า Surprise มาก คือ Youtube เปิดให้บริการในไทยเพียง 3 ปี ก็มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 3 เท่า หากนับจากจำนวน Diamond Channels หรือ ช่องที่มีผู้ติดตามมากถึง 10 ล้าน Subscriber ขึ้นไปนั้น ประเทศไทยติด อันดับ 3 ของ APAC และเป็นอันดับ 1 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งในปีที่แล้ว ยังไม่มีใครทำได้ แต่ปีนี้กลับมีเยอะมาก ซึ่งช่องที่มีผู้ติดตามเยอะสุดก็ได้แก่ WorkpointOfficial ที่มีผู้ติดตาม 13,082,843 คน และ GMM GRAMMY OFFICIAL ที่มีผู้ติดตาม 11,526,676 คน
หรือแม้แต่ระดับ Gold ที่ต้องมีผู้ติดตามหลัก 1 ล้านรายขึ้นไป ประเทศไทยก็ยังคงเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาค SEA และมีจำนวนมากถึง 100 ช่องที่ได้ขึ้นเป็นระดับนี้ เรียกได้ว่ามีช่องที่ได้ระดับโกลด์ในปี 2560 เพียงปีเดียว เพิ่มขึ้นเดือนละ 4 ช่อง แน่นอนว่าสถานีโทรทัศน์ที่เติบโตเร็วใน Youtube ก็คือช่อง 3 ด้วยกระแสของ บุพเพสันนิวาส ส่งผลให้ยอดการรับชมของเดือนมีนาคมนี้ พุ่งขึ้นเป็น 34.7 ล้านครั้งอย่างรวดเร็ว และแน่นอนว่า Ch3Thailand ก็มียอดผู้ติดตามเพิ่มขึ้นมาเป็น 7,395,649 คน อย่างติดสปีดเลยทีเดียว
เพื่อเป็นการยืนยันว่าคนไทยใช้งาน Youtube เพิ่มขึ้นจริงๆ คุณเบนก็เลยให้ภาพนี้อธิบายความหมายทุกอย่างแทน นั่นคือ มี 30% ที่ยอมดูโฆษณาบนช่องทางโซเชียลมีเดีย แต่ถ้าคุณมาทำโฆษณาผ่าน Youtube นะจ้ะ คุณจะมีคนดูโฆษณาของคุณมากถึง 95% เลยทีเดียว อันนี้ก็แล้วแต่ว่าใครอยากจะนำเสนอผ่านช่องทางใด พิจารณาตามความเหมาะสมกันได้
จากสไลด์นี้ เป็นการเก็บข้อมูลจากพฤติกรรมการเข้าใช้งาน Youtube ของผู้ชม พบว่า 51% เข้ามาเพื่อดูทีวีย้อนหลัง 33% เข้ามาเพื่อหาความรู้ทางการศึกษา 70% เข้ามาเพื่อฟังเพลง และอีก 24% เข้ามาเพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและบริการ ดังนั้น แบรนด์จึงควรนำเสนอข้อมูลเชิงลึกให้มากขึ้น ไม่ใช่แค่โฆษณาเพียงอย่างเดียว อาจเป็นการแนะนำสินค้า รีวิววิธีการใช้งาน หรือรีวิวสถานที่น่าสนใจที่สอดคล้องกับตัวสินค้า เพราะรูปแบบคอนเทนต์ที่หลากหลายและตรงกับความต้องการจะช่วยจูงใจในการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการเร็วขึ้น
นอกจากนี้ หากนำพฤติกรรมการรับชมมาเจาะลึกถึงเรื่องของช่วงอายุ ว่าแต่ละ Generation นั้น เค้าเลือกเข้ามาใช้บริการอะไรใน Youtube จากภาพจะเห็นได้ว่า คนที่เข้ามาดูทีวีย้อนหลังมากที่สุด จะมีอายุระหว่าง 25-34 ปี ผู้ที่เข้าใช้งาน Youtube เพื่อหาความรู้คือช่วงอายุ 16-24 ปี และคนที่อายุ 35 ปีขึ้นไป จะเข้ามาใช้งานก็ต่อเมื่อต้องการฟังเพลงหรือหาข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและบริการ
สไลด์นี้จะเห็นได้ชัดขึ้นไปอีกว่า ประเภทของเนื้อหาที่แต่ละ Gen ต้องการนั้น ควรมีเนื้อหาแบบใด โดยคนที่มีช่วยอายุตั้งแต่ 16-24 ปี จะให้ความสนใจด้านข้อมูลความรู้เชิงการศึกษา, ฟุตบอล, TV Show และ Documentaries มากที่สุด ส่วนคนที่มีช่วงอายุ 25-34 ปี จะสนใจการรับชม TV Show มากที่สุด รองลงมา คือ ฟุตบอล, Documentaries, ข่าวและข้อมูลเกี่ยวกับการศึกษา ส่วนคนที่มีช่วงอายุ 35 ปีขึ้นไป ก็ให้ความสนใจ TV Show มากที่สุดเช่นกัน รองลงมาคือ Documentaries, ฟุตบอล, ข่าว, และความรู้ทั่วไป
เมื่อเจาะลึกเข้าไปเปรียบเทียบพฤติกรรมการรับชมของคนเมืองกรุงกับคนท้องถิ่น จะพบว่า ในปี 2017 น้ัน ค่าเฉลี่ยการเข้าใช้งานต่อครั้ง ต่างกันเพียง 10 นาทีและเฉลี่ยการเข้ามาชมต่อวัน ต่างกันเพียง 3 ชั่วโมง และเมื่อนำข้อมูลนี้ไปเปรียบเทียบกับปี 2016 ที่ค่าเฉลี่ยการรับชมของคนกรุงเทพ อยู่ที่ 33 นาที/ครั้ง และระยะเวลาการรับชม 1.8 ชม./วัน ส่วนคนต่างจังหวัด 39 นาที/ครั้ง และ 2.1 ชม./วัน เรียกได้ว่าการกลับเข้ามารับชมต่อครั้งของปี 2017 สูงกว่าปี 2016 ที่ผ่านมา แต่การรับชมในรายชั่วโมงต่อวันนั้น ของคนกรุงเทพถือว่าเพิ่มขึ้น แต่คนต่างจังหวัดนั้นเท่าเดิม
หากแบรนด์ใดกำลังมองหาข้อมูลเกี่ยวกับตลาดต่างจังหวัด บอกได้เลยว่า การเข้าใช้งาน Youtube และเข้าถึงอินเทอร์เน็ตไม่แพ้คนเมืองเลยทีเดียว เพราะมีกว่า 97% ที่มีการใช้งานสมาร์ทโฟนแล้ว แต่อาจไม่ใช่รุ่นไฮเอนไปซะทุกคน แต่คนเหล่านี้ เข้าใช้งาน Youtube ทุกวันมากถึง 63% เลย โดยเข้าใช้งานผ่านอุปกรณ์สื่อสารซะเป็นส่วนใหญ่
ที่น่าสนใจคือ คอนเทนต์ที่เจาะตลาดคนท้องถิ่นก็มียอดการติดตามรับชมน่าสนใจทีเดียว อย่างเช่น ครัวบ้านทุ่งกับลุงเด่น ก็จะเป็นการพากินพาเที่ยวจังหวัดที่ตนเองอาศัยอยู่และคำพูดภาษาถิ่น หรือแม้แต่ Muslimited ที่รวมเรื่องราวของชาวมุสลิมที่ต้องการบอกให้คนนอกจังหวัดภายใต้ได้รู้ว่า เมืองของเขาไม่ได้น่ากลัวอย่างที่ทุกคนจินตนาการ ยังมีเรื่องราวดีๆ ที่พี่น้องชาวมุสลิมอยากบอกต่อ
ทิ้งท้ายกับคำถามที่กำลังฮิตคือเรื่องของ Brand Safe ว่า Youtube มีวิธีจัดการไม่ให้โฆษณาทั้งหลายที่แบรนด์จ่ายเงินออกไป ไม่ไปแสดงผลใน Content ที่ไม่เหมาะสม ซึ่งเบนก็บอกว่า บริษัททำงานอย่างหนักในการป้องกันและตรวจสอบอยู่เสมอ เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจได้ว่าจะไม่เกิดปัญหาขึ้น และไม่ใช่ว่าทำเพราะเป็นนโยบายของสำนักงานใหญ่ แต่เป็นสิ่งที่ Youtube ระมัดระวังอยู่เสมอ แต่หากเล็ดลอดไปและแบรนด์พบปัญหาทาง Youtube ก็พร้อมจัดการให้ทันที
ส่วนปัญหาเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์คอนเทนต์ที่มีการอัพโหลดซ้ำ อย่างกรณีของ บุพเพสันนิวาส ที่กำลังโด่งดังและมีคนดึงไปไว้ในช่องทางของตนเองนั้น Youtube บอกว่า เรามีเครื่องมือตรวจสอบ หากพบว่าคอนเทนต์นั้น ละเมิดลิขสิทธิ์และไม่ใช่ของผู้ผลิตโดยตรง จะมีการแจ้งไปทางผู้ผลิตทันที หากผู้ผลิตคอนเทนต์ไม่สบายใจอยากให้เอาลง Youtube ก็พร้อมพิจารณาและช่วยเหลือทันที ส่วนช่องที่ทำผิดกฏ ก็จะไม่ได้รับเงินส่วนแบ่งจากการโฆษณาแน่นอน