Site icon Thumbsup

แพลตฟอร์มประชุมทางไกล Zoom เส้นทางความสำเร็จและวิสัยทัศน์ผู้ก่อตั้ง

ที่มา pcmag

ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แพลตฟอร์มอายุ 9 ปี อย่าง Zoom จึงไม่เพียงเป็นการจัด “ประชุมทางไกล” แต่รวมถึงการเป็นห้องเรียนเสมือนจริง จุดรวมพลปาร์ตี้ ชมรมคนอ่านหนังสือ หรือแม้แต่การนัดเดทออนไลน์

ช่วงเวลาไม่กี่อาทิตย์ที่ผ่านมา Zoom กลายเป็นแอปพลิเคชันที่มียอดดาวน์โหลดมากที่สุดใน App Store โดยในวันจันทร์ที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมามียอดดาวน์โหลดมากถึง 2.13 ล้านครั้งทั่วโลกในวันก่อนหน้า ขณะที่สองเดือนก่อนมียอดดาวน์โหลดเพียง 56,000 ครั้งในหนึ่งวัน

ฟรีและดีกว่า

Zoom เวอร์ชั่นฟรีสามารถประชุมร่วมกันได้ถึง 100 คน ขณะที่คู่แข่งอย่าง Skype เวอร์ชั่นฟรีรองรับเพียง 50 คน รวมถึงมีฟีเจอร์ครบครันทั้ง พื้นหลังเสมือนจริง การโทรแบบส่วนตัว การส่งข้อความ และการบันทึกการประชุม ซึ่งจำกัดระยะเวลา 40 นาทีต่อครั้ง

ทั้งนี้ หากต้องการประชุมนานเกิน 40 นาที ผู้ใช้สามารถจ่ายค่าบริการ 14.99 ดอลลาร์ต่อเดือน หรือประมาณ 490 บาทเพื่อประชุมแบบไม่จำกัดนาที ขณะที่ผู้ใช้องค์กรมีค่าใช้จ่าย 19.99 ดอลลาร์ต่อเดือน หรือประมาณ 650 บาท

จุดเริ่มต้น

ที่มา ceochannels

ความสำเร็จของ Zoom เริ่มที่การก่อตั้งในปี 2011 หลัง Eric Yuan ลาออกจาก Cisco ในตำแหน่งรองประธานฝ่ายวิศวกรรม ของ Webex วิดีโอแพลตฟอร์ม เนื่องจากปัญหาภายในผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้รับการแก้ไข หลังจากนั้นจึงก่อตั้ง Zoom แพลตฟอร์มประชุมออนไลน์สำหรับองค์กรและการเรียนการสอนออนไลน์ จนสามารถเปิดบริการได้ในปี 2013

ความสำเร็จในระยะเวลา 9 ปี

การเติบโตของ Zoom ประสบความสำเร็จจากคุณภาพของผลิตภัณฑ์ผ่านการเติบโตแบบ “ปากต่อปาก” ซึ่งมีความเสถียรสูง ฟีเจอร์ใช้งานง่าย จนสามารถเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ก่อนขายหุ้นเข้า IPO ในปี 2019

ในการ IPO ราคาหุ้นของ Zoom (ZM) ปิดการซื้อขายที่ 62 ดอลลาร์ต่อหุ้น เพิ่มขึ้นถึง 72% ทำให้บริษัทมีมูลค่ากิจการถึง 15,900 ล้านเหรียญสหรัฐ

จนถึงวันที่ 23 มีนาคม 2020 ในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ทำให้กระแสการทำงานจากบ้าน (Work from Home) ถูกนำมาใช้มากขึ้น หลายองค์กรต้องหาโปรแกรมและแอปพลิเคชันมาตอบโจทย์การทำงานที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้ราคาหุ้นของ Zoom อยู่ที่ 130.55 เหรียญสหรัฐ และมูลค่าบริษัทสูงถึง 36,800 ล้านเหรียญสหรัฐ

ปัญหาที่ตามมา

อย่างไรก็ตามในการเติบโตที่รวดเร็วก็มีข้อเสียตามมา คือความกังวลด้านความเป็นส่วนตัวและการล่วงละเมิดออนไลน์ วลี “Zoombombing” เกิดขึ้นเมื่อแฮกเกอร์สร้างเนื้อหาแบ่งแยกเชื้อชาติเพื่อก่อความแตกแยก รวมถึงการแพร่ภาพลามกอนาจารไปยังผู้เข้าร่วมประชุมต่างๆ

นอกจากนี้ Zoom ยังต้องโฟกัสเรื่องการให้บริการอย่างต่อเนื่องท่ามกลางความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากทั่วโลก

ด้านโฆษกของ Zoom กล่าวว่า

Zoom มีศูนย์ข้อมูลกว่า 17 แห่งทั่วโลก ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดเส้นทางทั้งการรับส่งข้อมูลเสียงละวิดีโอทั้งหมด”

โดย นโยบายดังกล่าวของบริษัทมีมานานตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถรองรับการใช้งานที่เพิ่มขึ้นสองเท่าต่อวันและสามารถในการเพิ่มเซิร์ฟเวอร์ได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง หากจำเป็น และ Zoom มั่นใจว่าโครงสร้างของบริษัทถูกสร้างมาเพื่อรองรับการเชื่อมต่อที่เพิ่มขึ้น

ที่มา CNN