Site icon Thumbsup

ZTE แบรนด์มือถือจากจีนที่หวังครองตลาดอเมริกาในปี 2015

Apple, Samsung และ HTC แบรนด์เหล่านี้เป็นที่รู้จักกันดี และถ้าจะพูดให้ตรงกว่านั้นก็คือ มันคือแบรนด์ที่คนจำนวนมากในสหรัฐอเมริกาชื่นชอบ แต่ถ้าเดินไปตามบนถนนแล้วถามใครสักคนว่ารู้จักแบรนด์มือถือยี่ห้อ ZTE หรือไม่…อาจจะกริบแน่ๆ

ดูเหมือนว่าแบรนด์สินค้าที่พะยี่ห้อ “Made in China” จะมีตราบาปอะไรสักอย่างที่ทำให้เราไม่รู้สึกเชื่อมั่นในคุณภาพ แต่แบรนด์ ZTE มีแผนที่เปลี่ยนความเชื่อนี้

เมื่อต้นปี ZTE รายงานว่าบริษัทของตัวเองเป็นบริษัทผู้ผลิตมือถืออันดับ 4 ในอเมริกา มีส่วนแบ่งตลาด 7.4% มากกว่าบริษัทสัญชาติเดียวกันซะอีก และในความเป็นจริงแล้ว เพียงแค่ต้นปี 2014 ทาง ZTE ก็เพิ่มปริมาณการนำสินค้าเข้าสู่อเมริกาได้ถึง 50% และค่อยๆ เป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อยๆ

ตามข้อมูลจาก Techinasia ระบุว่าในช่วงแรกเริ่ม ZTE ใช้วิธีเป็นพาร์ทเนอร์กับบริษัทผู้จัดจำหน่ายโทรศัพท์มือถือหลายๆ แห่งในอเมริกา เช่น Boost, MetroPCS และ Cricket เพื่อเจาะตลาดอเมริกา และในตอนนี้ก็จะยังคงใช้กลยุทธ์ดังกล่าวต่อไปเรื่อยๆ เดินหน้าจับมือกับผู้จัดจำหน่ายรายใหญ่ๆ อีกหลายราย เพราะกลยุทธ์นี้เองที่ทำให้  Phablet รุ่น ZMAX ของ ZTE กลายเป็นสินค้าขายดีอันดับต้นๆ ที่ T-Mobile เป็นผู้จัดจำหน่าย

ในปัจจุบัน มือถือของ ZTE ที่มีวางจำหน่ายในอเมริกามีทั้งสิ้น 56 รุ่น ภายใต้แบรนด์ต่างๆ กัน บางรุ่นก็แปะยี่ห้อของผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ในอเมริกา แต่ทาง CEO ของ ZTE ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะเปลี่ยนให้เป็นโลโก้ของ ZTE 100% ภายในปี 2015

นอกจากนี้ ZTE ยังเข้าไปเป็นสปอนเซอร์ให้กับทีมบาสเกตบอล New York Knicks เพื่อสร้างการรับรู้ที่อเมริกันชนจะมีต่อแบรนด์ ZTE ซึ่งนับว่าเป็นวิธีที่ฉลาดมาก ใครๆ ก็รู้ว่าบาสเกตบอลคือกีฬาที่ชาวอเมริกันโปรดปราน นอกจากทีม New York Knicks แล้ว ZTE ก็ยังเข้าไปเป็นสปอนเซอร์ให้กับทีมบาสเกตบอลดังๆ อีก 2 ทีม ได้แก่ Houston Rockets และ Golden State Warriors ด้วยการผลิตสมาร์ทโฟนรุ่น Limited Edition สำหรับแฟนๆ ของแต่ละทีมโดยเฉพาะ

เรื่องที่น่ากังวลสำหรับ ZTE มีอยู่เรื่องเดียว นั่นก็คือปัญหาการเมืองระหว่างจีนกับอเมริกา จริงๆ แล้วก็เป็นปัญหาของแบรนด์มือถือจีนทุกแบรนด์ที่เข้ามาจำหน่ายในอเมริกา เช่น Huawei ก็จะพบปัญหาการแทรกแซงจากเจ้าหน้าที่รัฐเป็นระยะตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา โดยอาจจะมารูปแบบของการขอตรวจเอกสารการดำเนินกิจการของบริษัทอย่างเข้มงวด

แต่การรับมือกับปัญหาทางการเมืองระหว่างประเทศก็น่าจะอยู่ในแผนของบริษัทแน่ๆ อยู่แล้ว เพราะ ZTE ทำธุรกิจในอเมริกามาเป็นเวลานานถึง 16 ปี