ในช่วงเวลาที่ทั้งโลกกำลังจับตามองสังคมออนไลน์อันดับหนึ่งอย่าง Facebook กับก้าวสำคัญที่กำลังจะเปิด IPO เร็วๆ นี้ พร้อมกับการที่ Facebook ออกมาประกาศรายได้เป็นครั้งแรกที่ถือว่าสูงพอสมควรนั้น ส่วนหนึ่งก็คงต้องยกความดีความชอบให้กับ Zynga ผู้พัฒนาเกมดังมากมายที่ช่วยขับรายได้ให้กับสังคมออนไลน์แห่งนี้อย่างเป็นกอบเป็นกำด้วย
Zynga ถือได้ว่าเป็นผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่นบน Facebook ที่ใหญ่ที่สุดและรายได้จาก Zynga ถือเป็น 12% ของรายได้ทั้งหมดของ Facebook ในปี 2011 ทีเดียว ซึ่งหากอิงกับตัวเลขที่ Facebook เปิดเผยในการยื่นเรื่องเพื่อขอทำ IPO แล้ว ปริมาณ 12% ดังกล่าวถือเป็นเงินถึง 445 ล้านเหรียญ หรือกว่า 13,000 ล้านบาท ซึ่งหากดูรูปแบบความร่วมมือของทั้ง 2 บริษัทแล้ว เรียกได้ว่าต่างคนต่างก็ต้องพึ่งพากันแต่ Zynga เป็นฝ่ายที่ต้องอาศัย Facebook มากกว่าเพราะรายได้กว่า 90% ของบริษัทเกิดจากการใช้งานของผู้บริโภคบน Facebook
ในปัจจุบัน Zynga มีฐานผู้ใช้งานแอพพลิเคชั่นของบริษัทที่จัดอยู่ในกลุ่มผู้ใช้สม่ำเสมอทั้งหมด 235 ล้านคนต่อเดือน ซึ่งผู้ใช้เหล่านี้สามารถเล่นเกมต่างๆ ของ Zynga ได้ฟรีแต่หากต้องการซื้อสินค้าจำลองในเกมก็จะต้องจ่ายเงินเพื่อแลกกับสินค้านั้นๆ ซึ่งรายได้เหล่านี้ 30% จะไปเข้ากระเป๋าของ Facebook และที่เหลือจึงจะเป็นรายได้จริงของบริษัท นอกจากนี้ Zynga เองยังเพิ่มรายได้ให้กับ Facebook ในรูปแบบของการซื้อโฆษณาบนสังคมออนไลน์แห่งนี้เพื่อประชาสัมพันธ์เกมต่างๆ ของตัวเองอีกด้วย
ที่มา:?VentureBeat
เราได้อะไรจากข่าวนี้: จะเห็นว่าหลายๆ เว็บ หรือผู้ให้บริการต่างๆ พยายามที่จะทำตัวเองให้เป็นแพลทฟอร์ท (Platform) ให้ได้ในยุคนี้ ซึ่งในยุคที่โลกออนไลน์กำลังเฟื่องฟูและทุกคนสามารถเข้ามาเปิดธุรกิจหรือบริการของตัวเองได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำ ทำให้การแข่งขันเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมาก แนวคิดใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกวันและคนเลียนแบบก็เกิดขึ้นทุกวัน การเกิดของสังคมออนไลน์ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ที่ผ่านมาสังคมออนไลน์เน้นให้บริการแบบเบ็ดเสร็จด้วยตัวเองเป็นส่วนใหญ่ แต่การที่ Facebook ผันรูปแบบสังคมออนไลน์ของตนจากเดิมที่เป็นผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่นต่างๆ ด้วยตัวเอง ให้กลายเป็นแพลทฟอร์มที่เปิดให้ผู้พัฒนาอื่นๆ สามารถเข้ามาเชื่อมต่อเพื่อให้บริการแอพพลิเคชั่นอื่นๆ เพื่อหารายได้บนฐานของลูกค้าของ Facebook และร่วมพัฒนาสังคมออนไลน์แห่งนี้ไปด้วยกันได้นั้น ทำให้ Facebook ลดการแข่งขันลงและเปลี่ยน”ว่าที่คู่แข่ง”หลายๆ รายให้กลายเป็นพันธมิตรและสร้างความแข่งแกร่งให้กับตัวเองได้แทน
แม้เกมจะไม่ใช่ที่มาของรายได้ก้อนใหญ่ของ Facebook แต่ social game กลับเป็นตัวสำคัญที่ทำให้ผู้ใช้กลับเข้ามาใช้บริการและแอพพลิเคชั่นเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง และเป็นตัวส่งเสริมให้การขายโฆษณาเกิดขึ้นได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น ดังนั้นสัดส่วน 12% ที่มาจาก Zynga อาจจะดูเหมือนเป็นสัดส่วนที่น้อย แต่ก็ต้องยอมรับว่าในความเป็นจริงมีผลต่อการใช้ Facebook มากกว่าที่เห็น ตัวอย่างง่ายๆ ในบ้านเราก็คือปรากฏการณ์”การเก็บผัก”ที่ดึงให้คนที่ไม่เคยใช้สังคมออนไลน์แห่งนี้ได้เข้ามารู้จักและกลายเป็นผู้ใช้ประจำไปได้ ซึ่งเมื่อลูกค้าประจำเพิ่มขึ้น รายได้จากโฆษณาก็ค่อยๆ ไหลเข้ามาเพิ่มขึ้นไปด้วย ดังนั้นหากมองให้ดีแม้จะดูเหมือน Zynga ต้องพึ่งพา Facebook มากกว่า แต่ Facebook เองก็คงรู้ลึกๆ อยู่ในใจว่าหากขาด”ผู้ช่วยขับเคลื่อนธุรกิจ”ที่ดีแบบนี้ไป การเติบโตก็อาจจะไม่ได้รวดเร็วอย่างที่ผ่านมาก็เป็นได้
ความน่าสนใจที่ต้องดูต่อไปก็คือ ในขณะที่ Facebook ยังแข็งแกร่งแต่ก็มีผู้เล่นใหม่หลายรายที่ประกาศจะเปิดตัวเป็นแพลตฟอร์มให้นักพัฒนาสามารถมาร่วมทำธุรกิจด้วยกันได้ เช่น Google หรือ youtube ที่มีข่าวว่าสนใจจะกระโดดลงมาเปิดตัวเองเป็นแพลตฟอร์มสำหรับเกมด้วยเช่นกันนั้น จะมีผลอย่างไรต่อ Facebook และ Zynga บ้าง หรือกรณีที่เว็บเบราเซอร์ชั้นนำอย่าง Google Chrome ที่ทำตัวกลายเป็น web store ที่เปิดให้นักพัฒนาสามารถมาพัฒนาแอพพลิเคชั่นบนหน้าเว็บและเราได้เห็นเกมชั้นนำอย่าง Angry Birds ในเวอร์ชั่นของ Chrome ไปแล้วนั้น จะมีผลอย่างไรต่อธุรกิจเกมบน Facebook บ้าง คงต้องจับตามองกันต่อไป