ต้องจารึกไว้ถึงความยิ่งใหญ่ของศึกคนโสดหรือ Singles Day วันที่ 11 เดือน 11 ที่สามารถกระตุ้นวงการช็อปปิ้งออนไลน์ไทยได้อย่างคึกคัก มีมที่เคยได้ผลในตลาดจีนวันนี้กำลังขยายตัวที่ประเทศไทยแบบก้าวกระโดดในปีนี้ บนความเปลี่ยนแปลงซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นในเทศกาล 11.11 ปีไหนเลย
ก่อนหน้านี้ Singles Day มีดีกรีเป็นวันที่ชาวจีนจะกระหน่ำซื้อสินค้าออนไลน์เพราะยักษ์ใหญ่ต่างจัดเต็มโปรโมชันลดแลกแจกแถมชนิดไม่ซื้อจะเสียดาย ความที่ ”จีน” เป็นตลาดช็อปปิ้งขนาดใหญ่ที่สุดในโลกด้วยจำนวนประชากรออนไลน์หลายร้อยล้านคน การกระโจนคลิกซื้อสินค้าในช่วง 24 ชั่วโมงของชาวออนไลน์แดนมังกรจึงเป็นพลังทำให้วันที่ 11 พฤศจิกายนเป็นวันที่ทำยอดขายแซง Black Friday และ Cyber Monday ของสหรัฐอเมริกาไปแล้วเรียบร้อยครั้งแรกเมื่อปี 2012 (ทั้ง 2 วันรวมกัน)
ไม่เพียงรายใหญ่อย่าง Alibaba แต่เว็บไซต์คู่แข่งอื่นในตลาดต่างก็ลดราคาในวันคนโสดนี้ด้วย สำหรับปี 2017 ที่ผ่านมา ยอดเงินสะพัดในตลาด ecommerce จีนช่วงวันคนโสดทะลุหลัก 1.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐไปแล้ว เท่ากับประมาณ 39.7 ล้านล้านบาททีเดียว ถือเป็นตัวเลขยืนยันว่ามีมความเหงาจากตัวเลข 1 เรียงกัน 4 ตัวในวันที่ 11.11 นั้นขยายตัวชัดเจนหลังจากเริ่มประเดิมกับวงการ ecommerce จีนเมื่อปี 2009
ปี 2018 แบรนด์เล่นใหญ่
สิ่งที่สามารถสัมผัสได้ชัดเจนในศึก Singles Day ไทยปีนี้ คือความแพร่หลายของแคมเปญ จากที่เคยร้อนแรงเฉพาะห้างออนไลน์รายใหญ่อย่าง Lazada หรือ JD แต่ปีนี้แบรนด์ที่ทำ marketplace ด้วยตัวเอง (เว็บไซต์กลุ่มที่เป็น “Brand.com”) นั้นลงมาทำแคมเปญศึกคนโสดกันมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ถ้าไม่นับ supersports.co.th, esteelauder.co.th หรือ King Power Online ยังมีอีกหลายแบรนด์ที่ร่วมโชว์ข้อเสนอพิเศษสุดแห่งปี บางแบรนด์เริ่มจัดก่อนตั้งแต่วันศุกร์ 9 พฤศจิกาบน ขณะที่บางแบรนด์ขีดเส้นลุยวันเดียวเพื่อให้เกิดความพิเศษแท้จริง
ไม่แค่วันที่ 11
ปรากฏการณ์ 11.11 ในไทยนั้นไม่ได้จำกัดเฉพาะวันเดียว เพราะหลายแบรนด์กำหนดเวลาจัดโปรโมชันออนไลน์แบบล้อมหน้าล้อมหลัง จากการประเมินโดยคร่าว พบแคมเปญ 11.11 ส่วนใหญ่ในไทยจะคลุมช่วงเวลา 9-13 พฤศจิกายน โดยมีวันที่ 11 เป็นไข่แดงไฮไลท์ในทุกแคมเปญ
แม้รูปแบบการลดแลกแจกแถมสำหรับนักช็อปไทยจะมีหลากหลายไม่ต่างกับเทศกาล 11.11 ในจีนหรือปีที่ผ่านมา แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดคือการวางจำหน่ายสินค้าราคาเดียวมีให้เห็นหนาตามากขึ้น ทั้งราคา 111 บาท, 1,111 บาท หรือแม้แต่ 11,111 บาท
เงินสะพัดร้อนระอุ
น่าเสียดายที่ไม่มีการสำรวจตลาดเทศกาล 11.11 ในไทย ไม่อย่างนั้นเราคงได้เห็นพลังของนักช็อปออนไลน์ไทยว่าจะร้อนระอุเหมือนตลาดจีนหรือไม่ โดยสถิติที่สำนักข่าว Tech in Asia เคยรวบรวมไว้ เชื่อว่าวันที่ 11 พฤศจิกายน 2018 จะมีเงินสะพัดบนอีคอมเมิร์ซจีนมากกว่า 1.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 52.8 ล้านล้านบาท
ตัวเลขนี้สูงลิ่วเมื่อเทียบกับมหกรรม Black Friday ปีที่แล้ว ที่แม้จะทำเงินสะพัดบนโลกออนไลน์เพิ่มขึ้นทุกปี แต่ปีนี้จะต้องรอลุ้นวันที่ 23 พฤศจิกายน 2018 ซึ่งเป็นวันที่มหกรรม Black Friday ปี 2018 จะเริ่มขึ้น
โอกาสทองได้ผล
ปรากฏการณ์ 11.11 ไม่ใช่เทศกาลเดียวที่สามารถดึงเงินออกจากกระเป๋านักช็อปออนไลน์ได้มากกว่า Black Friday แต่ยังมี Prime Day ซึ่งคว่ำ Black Friday ขึ้นแชมป์วันขายดีที่สุดในประวัติศาสตร์ของ Amazon ความสำเร็จนี้สะท้อนว่าการจัดอีเวนท์ของร้านออนไลน์เพื่อกระตุ้นการซื้อนั้นเป็นกลยุทธ์ที่ได้ผล
Prime Day นั้นเป็นอีเวนต์ประจำปีที่ Amazon จะลดราคาสินค้าหลายรายการแก่สมาชิก Amazon Prime ระยะเวลาจัดโปรกินเวลา 30 ชั่วโมงช่วงกลางเดือนกรกฎาคม แม้ Amazon จะไม่เปิดเผยตัวเลขยอดขายที่แน่ชัด แต่ข้อมูลพบว่า Prime Day ปี 2017 มีการเติบโตเกือบ 60% ทำให้ไม่เพียง Black Friday แต่ Prime Day ในปี 2017 สามารถแซง Cyber Monday ขึ้นแชมป์วันที่มียอดขายสูงสุดในประวัติศาสตร์ Amazon ได้สำเร็จ
ไม่แน่ Prime Day อาจเป็นต้นแบบให้เทศกาล 11.11 ต่อยอดได้ในอนาคต เพราะเหตุผลที่ทำให้ยอดจำหน่ายในอีเวนต์ Prime Day ปี 2017 มีตัวเลขเพิ่มขึ้นเกินว่า 60% คือจำนวนสมาชิกใหม่ที่สมัครเป็น Amazon Prime มากขึ้น จุดนี้ Amazon ย้ำว่ายอดสมัครสมาชิกใหม่ในวัน Prime Day ก็มีจำนวนมากกว่าทุกวันเช่นกัน ซึ่งหากแบรนด์หรือ marketplace รายใดสามารถใช้เทศกาล เปลี่ยนลูกค้าจรให้เป็นลูกค้าประจำได้สำเร็จแบบ Amazon ความสำเร็จก็จะเกิดขึ้นแบบยั่งยืน และโลกก็จะต้องจารึกไว้อีกครั้งแน่นอน.