สำหรับข่าวใหญ่วันนี้ก็คงไม่พ้นการบุกของยักษ์ใหญ่ Alibaba ที่มาซื้อกิจการของ Lazada ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรายละเอียดของข่าวอ่านได้ที่นี่ -> Alibaba เข้าถือหุ้นใหญ่ใน Lazada เพื่อยึดตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เต็มรูปแบบ
แต่บทความนี้จะว่าด้วย การปรับตัวให้อยู่รอดของผู้ประกอบการไทยมากกว่า เพราะปรากฏการณ์ยักษ์บุกเมืองนี้ก็เคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อปี 2009
Editorial note: บทความนี้คือบทความพิเศษที่เราเรียกว่า Guest Post จากคุณ Parin Songpracha อดีต Head of eCommerce ของ CP All (7-Eleven) ที่ก่อตั้ง Online Retail ของธุรกิจค้าปลีกในประเทศ ก่อนจะไปบุกเบิกธุรกิจ eCommerce ให้กับ DHL บริษัท ลอจิสติกส์ระดับโลก ปัจจุบันทำธุรกิจส่วนตัวด้านเทคโนโลยีที่เน้นการทำตลาดทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ควบคู่กัน บทความนี้เขาส่งมาให้ กองบรรณาธิการ thumbsup อัพโหลดขึ้นให้ชาว thumbsup โดยเฉพาะ ทว่าสิ่งที่เขาเขียน ไม่สะท้อนแนวคิดของกองบรรณาธิการ thumbsup เป็นเพียงมุมมองส่วนตัวของเขา ว่าแล้วก็อ่านกันได้โดยพลัน
ตอนที่ Rakuten เข้ามาในไทยก็ทำเอาแผ่นดินออนไลน์สะเทือนไม่ต่างกัน วันนี้ผมขอเอาประสบการณ์จากตอนที่เห็นในครั้งนั้นมาวิเคราะห์ เพื่อเป็นแนวทางให้เจ้าของเว็บต่างๆ ปรับตัว สั้นๆ 4 ข้อ
1. โฟกัส
เมื่อยักษ์ใหญ่เหล่านี้มา เขาจะบุกทุกกลุ่มสินค้า โดยเฉพาะสินค้าที่ขายดี ซึ่งเป็นทั้งข้อดีและข้อเสีย คือเมื่อต้องกระจายการบุก ทรัพยากรก็จะกระจายไปด้วย ดังนั้นสิ่งที่ควรปรับตัวคือ โฟกัสไปยังกลุ่มสินค้าที่เราเก่งที่สุดเพียงกลุ่มสินค้าเดียวแล้วทำให้มันแข็งแรงไปเลย เน้นแคบแต่ลึก เป็นปลาใหญ่ในบ่อเล็ก อย่าได้พยายามสู้ด้วยราคา หรือกระจายกำลังไปหลายๆ กลุ่มสินค้าเด็ดขาด
2. รักษาคน
จะมีปรากฏการณ์ดูดคนทำงานเกิดขึ้น ดังนั้นสิ่งที่ผู้บริหารเจ้าของเว็บต้องทำคือ รีบสื่อสารกับพนักงาน และตบรางวัลให้กับพนักงานดาวเด่นที่สมควรได้รับ มิเช่นนั้น อาจจะเสียไปให้คู่แข่งรายใหญ่ เท่ากับเสียสองต่อ อัตราเงินเดือนขึ้นอยู่ที่ราวๆ 1.3-3 เท่าของฐานเงินเดือนเดิม ขึ้นอยู่กับความใหญ่ของกลุ่มสินค้า
3. รีดประสิทธิภาพแผนการตลาด
ผู้เข้ามาใหม่จะมีการทุ่มเงินซื้อ Ads หรือโฆษณา และมีงบเพื่อการทำ Rebranding ซึ่งจะทำให้ค่าโฆษณาออนไลน์มี bid rate ที่สูงขึ้น ดังนั้น ตอนนี้แผนกการตลาดออนไลน์ต้องรีบเอาแผนการใช้เงินมาดู และรีดประสิทธิภาพด้าน RoI เพิ่มขึ้นไปอีก ถ้าสามารถต่อรองซื้อ Ads ระยะยาวเพื่อล็อคราคาเอาไว้ได้ (เช่น ซื้อตรงกับเว็บในประเทศ) ก็เป็นกลยุทธ์ที่น่าสนใจ เพราะเมื่อราคาค่าโฆษณาเพิ่มขึ้น ประสิทธิภาพจะลดลงอย่างน่ากลัว
4. ใช้กลยุทธ์อื่นร่วม
ยักษ์ใหญ่พวกนี้ถึงแม้จะใหญ่มากแต่ก็ยังใหญ่แต่ในโลกออนไลน์ ซึ่งสำหรับในภูมิภาคนี้ ตลาดออฟไลน์ยังมีขนาดใหญ่กว่าอยู่มาก เว็บ eCommerce ทั้งหลายต้องหากลยุทธ์ออฟไลน์มาเสริม เพื่อสร้างฐานลูกค้าใหม่โดยหลีกเลี่ยงการสู้ตรงๆ ซึ่งๆ หน้า แต่ในโลกออนไลน์อย่างเดียว ซึ่งจะทำให้สิ้นเปลือง และเสียเปรียบมาก
ยังไงก็ลองเอาทั้ง 4 ข้อนี้ไปลองวิเคราะห์เพื่อประกอบการวางแผนการตลาดกันดูนะครับ
สำหรับใครที่มีข้อสงสัยหรืออยากแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพิ่มเติมสามารถคุยกับผมได้ที่ Facebook ของผมครับ
ที่มาของภาพ: Bloomberg
เกี่ยวกับผู้เขียน Parin Songpracha อดีต Head of eCommerce ของ CP All (7-Eleven) ที่ก่อตั้ง Online Retail ของธุรกิจค้าปลีกในประเทศ ก่อนจะไปบุกเบิกธุรกิจ eCommerce ให้กับ DHL บริษัท ลอจิสติกส์ระดับโลก ปัจจุบันทำธุรกิจส่วนตัวด้านเทคโนโลยีที่เน้นการทำตลาดทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ควบคู่กัน