กลับมาอีกครั้งสำหรับบทความที่น่าจะถูกใจชาว tech startup ในเมืองไทย นั่นคือวิธีการขายกิจการอินเทอร์เน็ต ซึ่งเน้นสำหรับบริษัทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะ ในครั้งนี้ผมอยากจะเล่าต่อในเรื่อง เส้นทางจากการเป็นนวัตกรสู่การเป็นบริษัทในฝันของตลาดหุ้น บอกอีกครั้งว่าบทความนี้ผมแปลและดัดแปลงมาจากบทความของเพื่อนผมที่เป็นคนทำงานในแวดวง Venture Capital อีกที และปรับเปลี่ยนให้มีความเป็นไทยมากขึ้น อาจจะมี “กลิ่นเนย” ผสมอยู่บ้าง แต่คิดว่าน่าจะมีประโยชน์พอสมควร
บริษัทเกิดใหม่ที่จริงก็เหมือนบริษัททั่วไป แต่สิ่งที่แตกต่างก็คือบริษัทเกิดใหม่จำเป็นจะต้องมีวิสัยทัศน์ที่มีคุณภาพ ต้องคิดใหญ่และแตกต่างเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ของตัวเองเปิดตัวมาได้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดโลก (เน้นนะครับว่า “ตลาดโลก” ไม่ใช่แค่เมืองไทย) และเมื่อมีวิสัยทัศน์ที่ดีพอแล้วก็จะต้องผลักดันให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่ทุกคนเห็นแล้วจะต้องหลงรักมันได้ทันที ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายๆ นักหรอก แต่มันก็จะไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลยถ้าคุณไม่เริ่มคิดเริ่มทำฝันให้เป็นจริง แต่ถ้าหากคุณมีผลิตภัณฑ์สุดเจ๋งอยู่ในมือแล้วล่ะก็ ต่อไปคุณจะเจอสิ่งต่อไปนี้ ซึ่งไม่ใช่การขู่ แต่มันคือเรื่องจริงที่จะเกิดขึ้น
- ต้นทุนของสาธารณูการ? เจ้าต้นทุนนี้จะกดดันให้คุณต้องหาทางสร้างรูปแบบธุรกิจ และการหารายได้เพื่อเอามาทบกับต้นทุนที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว มันต้องมีการตั้งเป้ายอดขายและรายได้ทีชัดเจน ทุกสิ่งทุกอย่างจะมีต้นทุนของมัน ไม่ว่าจะเป็นทีมขายขนาดใหญ่ การรักษาความสัมพันธ์ทางธุรกิจ ทุกอย่างจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ขอให้ตั้งตัวไว้ให้ดี
- นักลงทุนเข้ามาจีบ ถ้าคุณเปิดตัวได้แรงพอ ช่วงแรกๆ ผลิตภัณฑ์ของคุณก็จะมีคนมาใช้มากมายเติบโตหลักร้อย% ได้ไม่ยาก จากนั้นนักลงทุนก็จะเริ่มเข้ามาพูดคุยถึงทางออกว่าต่อไปมันจะเป็นอย่างไร เช่น เขาลงทุนกับคุณแล้วจะเอาบริษัทคุณเข้าตลาดหุ้น หรือว่าจะขายบริษัท รวมทั้งการตั้งเป้า ตั้ง Key Performance Indicator หรือ KPI ให้กับคุณทุกๆ ไตรมาส
- เข้าตลาดหุ้น เมื่อเข้าตลาดหุ้นได้ คุณก็แทบจะกลายเป็นทาสที่ต้องรายงานนักลงทุนทุกๆ ไตรมาส ว่ากิจการคุณไปถึงไหนแล้ว คุณทำถึงเป้าหรือเปล่า สิ่งพวกนี้หลีกเลี่ยงไม่ได้ คนที่ดูแลบริษัทคุณจะเปลี่ยนจากคุณมาเป็นนักบริหารมืออาชีพที่จะต้องเน้น “ตัวเลข” เป็นหลัก
- คุณจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่แวดล้อมไปด้วยความกดดันทางการเงินกว่าเดิมมากมาย – คุณจะต้องถูกนักลงทุนคอยถามว่าคุณจะทำอะไรต่อไปเพื่อให้ “ตัวเลข” ถึงเป้าที่วางไว้ เพราะคนไว้ใจลงเงินมากับคุณแล้ว ที่ผ่านมานักลงทุนเห็นว่าบริษัทคุณทำรายได้มามากจึงไว้ใจมาเสี่ยงลงทุนกับคุณ คุณจะจ่ายเงินไปมากน้อยแค่ไหนอย่างไรกับบริษัทที่เคยเป็นของคุณจะเป็นเรื่องที่เขาแคร์มาก แถมแต่ละไตรมาสคุณจะต้องทำให้กิจการของคุณเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ถ้าไม่เติบโตก็จะถูกตั้งคำถามว่าคุณทำอะไรอยู่ และอาจจะต้องหาคนมาบริหารแทนคุณ
thumbsuper หลายคนอาจจะตั้งคำถามกับผมว่า นี่ผมบ้าไปหรือเปล่า เมืองไทยแทบจะยังไม่มีบริษัทดอทคอมบริษัทไหนเข้าตลาดหุ้นได้สำเร็จเลย นี่สักแต่ว่าแปลๆ บทความมาหรือเปล่า ก็อธิบายว่าไม่ใช่อย่างนั้นหรอกครับ จากประสบการณ์ผมบอกได้เลยว่าเมืองไทยเป็นหนึ่งในตลาดที่กำลังเติบโต Venture Capital หลายคนกำลังสนใจเมืองไทยและอยากมาลงทุนมากมาย ระยะนี้ผมมักจะได้ยินข่าวอยู่บ่อยๆ ว่านักลงทุนจากเมืองนอก ในระดับ Global ที่มักจะมาจากสหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น ตะวันออกกลาง ละตินอเมริกา และในระดับอาเซียนก็จะเป็นกลุ่มทุนจากสิงคโปร์ มาเลียเซียที่เริ่มลุยเข้ามาตั้งสาขาในเมืองไทยแล้วหลายบริษัท บ้างก็เปิดธุรกิจใหม่ในบ้านเราไปเลย บ้างก็เอาธุรกิจของตัวเองที่ประสบความสำเร็จมาแล้วในต่างประเทศมาบุกตลาดในบ้านเรา อย่างเช่นเว็บ Reebonz ขวัญใจไฮโซผู้รักของถูก ที่เราเคยนำเสนอ หรือเว็บอย่าง Openrice ที่มาจากฮ่องกงและบุกตะลุยไปหลายๆ ประเทศ อย่างตอนนี้ผมเองก็เริ่มเห็นบริษัทไทยอย่าง “หัวลำโพง” พยายามทำผลิตภัณฑ์ที่จะเติบโตได้ในระดับโลกขึ้นมาแล้วอย่าง MOLOME หรือกิจการไทยที่ขายให้ต่างชาติได้แล้ว และเตรียมขยายกิจการต่อไปอย่าง DDProperty
สิ่งที่ startup ไทยควรทำตอนนี้คือเร่งสร้างนวัตกรรมในผลิตภัณฑ์ที่สามารถเติบโตได้ในระดับโลก ระดับภูมิภาค เปิดตัวให้มากกว่า 1 ตลาด เตรียมพร้อมรับเม็ดเงินลงทุนที่จะไหลเข้ามา และเตรียมพร้อมทำงานกับ Venture Capital ให้ได้เพราะมันจะเป็นทางที่คุณเติบโตได้และสามารถเติบโตเข้าตลาดหุ้นได้อย่างเต็มภาคภูมิในที่สุด… จะเป็นตลาดหุ้นที่นี่หรือที่ประเทศอื่นก็เป็นไปได้ทั้งนั้น ยุคนี้คือยุคของคุณ คุณจะต้องสร้างความแตกต่าง และ thumbsup จะอยู่คู่กับคุณในการผลักดันคุณให้สุดลิ่มทิ่มประตู
ตอนที่ 3-4-5 จะยังตามมาเรื่อยๆ ตามเรามาครับ